สจล. จับมือ สวทน. เปิดหลักสูตรใหม่ “วิศวกรรมขนส่งทางราง” แห่งแรกในไทย รองรับโครงการลงทุนคมนาคม 2 ล้านล้านบาท คาดปี 58 ต้องการ 2,000 คน

ข่าวทั่วไป Monday May 13, 2013 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ปัญหาคุณภาพชีวิต ความแออัดของจราจร โครงข่ายการเดินทางที่ไม่เชื่อมต่อกัน การสิ้นเปลืองพลังงานและมลพิษที่สูงขึ้นทำให้การขนส่งมวลชนระบบรางด้วย รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเข้ามามีบทบาทและทวีความสำคัญในการสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ไทยยังขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีระบบรางจำนวนมาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เปิดรับสมัครรุ่นแรก พ.ค. 2556 รองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน คาดปี 2558 บุคคลากรด้านนี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า 2,000 คน ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร (Prof. Dr.Wanlop Surakampontorn) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง กล่าวว่า “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) เป็นหน่วยงานในสังกัดสนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) (National Science Technology and Innovation Policy Office)ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานให้สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาหรือการวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนองต่อนโยบายและความต้องการของประเทศในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเปิดหลักสูตรใหม่ด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.นี้เป็นหลักสูตรที่เอื้ออํานวยต่อการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตและบริการ ด้วยความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.,สวทน.,บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ มหาชน (BMCL) ,การรถไฟแห่งประเทศไทย,บริษัท ซีเมนส์ และบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ จึงนับเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ภายใต้นโยบายของ สวทน. ซึ่งมีโครงการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบขนส่งทางราง เพื่อรองรับโครงการลงทุนระบบขนส่งทางราง ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันและอนาคต และยังเป็นการสร้างศักยภาพสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สากล ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมขนส่งและบริการระบบราง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เผ่าภัค ศิริสุข สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “วิศวกรรมขนส่งทางราง (Rail Transportation Engineering) เป็นหลักสูตรเปิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จำนวน 145 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 15 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา สาระสำคัญที่เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่งระบบราง ได้แก่ ส่วนประกอบของรถไฟและราง, การสร้าง ตรวจสอบ และซ่อมบำรุงระบบราง, ระบบขับเคลื่อนต่างๆ ของรถไฟ เช่น ไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และน้ำมัน, ความปลอดภัยและความสบายของผู้โดยสาร, การสึกหรอ และการซ่อมบำรุงของรถไฟ, การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ, ระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในปีการศึกษา 2556 นี้เปิดรับนักศึกษาจำนวน 40 คน โดยคุณสมบัติของผู้สมัครคือ สำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์ เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 ผู้สนใจสมัครเรียนดูรายละเอียดที่ http://www.reg.kmitl.ac.th” ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ (Dr. Nuttawut Lewpiriyawong) ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงเส้นทางสู่อาชีพวิศวกรรถไฟฟ้าว่า “ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ในการสร้างโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยไปสู่การคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและปลอดภัย จากผลสำรวจพบว่าในปี 2558 ความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางในประเทศไทยมีมากกว่า 2,000 คน ในการเรียนวิศวกรรมขนส่งทางราง ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นี้ เมื่อเรียนจบแล้วจะได้วุฒิการศึกษาเป็นวิศวกรรมบัณฑิต (วศ.บ.) สามารถประกอบอาชีพที่ท้าทายและเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมและบริการขนส่งทางรางในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ วิศวกร นักวิจัย หรือ อาจารย์ ในสาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง เช่น วิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง และวิศวกรรถไฟดีเซล รวมทั้งยังสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ และอาชีพอิสระอื่นๆ ในอุตสาหกรรมวิศวกรรมขนส่งทางรางของประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก สอดคล้องกับการก้าวสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งผู้ที่เรียนจบสาขานี้จะเป็นบุคลากรที่ต้องการในภูมิภาค อาเซียนด้วย” ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication) Fax. : 02-911-3208 E-mail : brainasiapr@hotmail.com Website : www.brainasia.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ