“โดวาคิน” ระบบตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ในการก่ออาชญากรรม นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของสังคม

ข่าวทั่วไป Thursday May 16, 2013 15:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ในโลกปัจจุบันที่ปัญหาสังคมที่สลับซับซ้อนและภัยที่คุกคามชีวิตและความสงบสุข ในเหตุร้ายต่างๆมักมีการใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุอยู่เสมอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ซึ่งเป็นแห่งแรกของไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท วิศวกรรมป้องกันประเทศ เผยผลงานระบบตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ในการอาชญากรรมจากภาพถ่ายหัวกระสุนปืน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน โดวาคิน...ระบบตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ในการก่ออาชญากรรม ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน (Asst.Prof.Dr.Pitak Thumwarin) สาขาวิศวกรรมป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ กล่าวว่า “โดวาคิน” ระบบตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ในการก่ออาชญากรรมจากภาพถ่ายหัวกระสุนปืน(Firearm Identification System based on Bullet Image Analysis) เป็นนวัตกรรมด้านวิศวกรรมป้องกันประเทศ หรือที่เรียกว่า Defence Engineering โดยเราได้ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อมีการก่ออาชญากรรมหรือคดีทางกฎหมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางอาวุธปืน จะต้องมีการพิสูจน์หลักฐาน พยานวัตถุจัดได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อสืบตัวไปหาคนร้าย ซึ่งอาวุธที่คนร้ายนิยมใช้ก่อเหตุคืออาวุธปืน และหนึ่งในหลักฐานทางพยานวัตถุที่สำคัญของอาวุธปืนคือ กระสุนปืน เช่น คดีโจ๊ก ไผ่เขียว ที่ดังไปทั่วประเทศ มีการค้นหาสืบสาวถึงตัวคนร้ายได้จากร่องรอยบนปลอกและกระสุนปืน กระสุนปืนมีส่วนประกอบที่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้อยู่ 2 ส่วนคือหัวกระสุนปืน (Bullet) และปลอกกระสุนปืน (Cartridge case) สำหรับปลอกกระสุนปืนจะมีร่องรอยที่เกิดขึ้นอยู่ 2 รูปแบบนั้นคือรอยที่เกิดจากเข็มแทงชนวน (Firing pin mark) และรอยที่เกิดจากจานท้ายกระสุนปืนกระแทกกับแป้นปิดท้ายรังเพลิง (Breech face impression) ร่องรอยคุณลักษณะบนหัวกระสุนจะเกิดขึ้น ณ เวลาที่ลูกกระสุนได้ถูกยิงออกจากอาวุธปืน ลักษณะมากมายหลายอย่างภายในร่องรอยเหล่านี้สามารถนำมาใช้แยกแยะได้ และในการนำมาใช้ร่วมกันจะเสมือนกับเป็น รอยนิ้วมือใช้สำหรับการบ่งชี้อาวุธปืน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น แทนการใช้สายตา การดำเนินคดีและการพิสูจน์ทราบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ส่งผลดีต่อความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความสงบสุขของสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม” งานนวัตกรรมนี้แสดงถึงระบบตรวจวิเคราะห์อาวุธปืนโดยพิจารณาคุณลักษณะเชิงพื้นผิวของภาพถ่ายหัวกระสุนปืน ในขั้นแรกจะเป็นกระบวนการหาลักษณะหยาบๆที่สามารถนำมาใช้ในการแบ่งประเภทของกระสุน ออกจากกันได้ โดยใช้ Hough Transform และการแบ่งส่วนแบบ Binary-tree เพื่อหาเส้นขอบของร่องสันและร่องเกลียว จากนั้นจึงหาค่าคุณลักษณะจากเส้นที่ได้มาเหล่านี้ ในขั้นตอนถัดมาเป็นการวิเคราะห์คุณลักษณะเชิงพื้นผิวของภาพด้วยสองวิธีที่แตกต่างกันคือ สเปคตรัมกำลังในสองมิติและ GLCM แล้วนำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบกันเพื่อหาวิธีที่มีความเหมาะสมมากกว่า สุดท้ายคือการออกแบบระบบที่ให้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการวิเคราะห์ และสามารถใช้งานได้จริงด้วยต้นทุนที่ต่ำประมาณ 2 แสนเศษ สามารถประหยัดงบประมาณที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเครื่องตรวจพิสูจน์ซึ่งมีราคาสูงถึงเครื่องละ 50 -60 ล้านบาท จากต่างประเทศ ผศ.ดร.พิทักษ์ กล่าวเสริมว่า “ ในปัจจุบันไทยมีการนำเข้าอาวุธปืนปีละนับแสนกระบอก และยังไม่มีการเก็บฐานข้อมูลประวัติของปืนแต่ละกระบอก ยิ่งในก้าวที่เราจะเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนที่หลากหลายภาษาและวัฒนธรรม ความปลอดภัยและสงบเรียบร้อยของสังคมไทยเป็นสิ่งสำคัญ ในหลายประเทศได้ดำเนินการเก็บข้อมูลที่เป็นลักษณะเฉพาะของปืนทุกกระบอกที่จำหน่ายในท้องตลาด นวัตกรรม โดวาคิน จึงเป็นก้าวสำคัญของไทย ที่เราจะสร้างฐานข้อมูลของ Signature ของอาวุธปืนแต่ละยี่ห้อ และแต่ละรุ่นไว้ และในอนาคตเมื่อกรมการปกครองมีฐานข้อมูลของประชากรพร้อม เมื่อมีเหตุร้ายก็สามารถค้นหาได้เลย และอาจออกกฎหมายให้ปืนทุกกระบอกต้องเก็บปลอกและหัวกระสุนเป็นข้อมูลไว้ ก่อนจำหน่าย เพราะปืนแต่ละกระบอกจะมีร่องรอยปลอกและร่องรอยกระสุนจากการยิงต่างกัน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ