ศิลปินมาเลเซียคว้ารางวัลชนะเลิศศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998

ข่าวทั่วไป Tuesday December 8, 1998 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--8 ธ.ค.--บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด
นาย เกา เลียง เคียง ศิลปินชาวมาเลเซียได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 ซึ่งสนับสนุนการจัดการประกวดโดยกลุ่มบริษัทฟิลลิป มอร์ริส โดยภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน และการประกวดในครั้งนี้ ศิลปินไทยไม่ยอมน้อยหน้าชาติอื่น เป็น 1 ใน 4 ของศิลปินที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครองอย่างเต็มภาคภูมิจากภาพผลงานชื่อพลังความอุดมสมบูรณ์ (The Power of Richness)โดยศิลปินหนุ่มชาวไทยนายสมพร แต้มประสิทธิ์ร่วมด้วยศิลปินจากอินโดนีเซียและเวียดนาม
พิธีประกาศผลรางวัลซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและสารนิเทศของเวียดนาม ได้รับเกียรติจากนายเหงียน มันท์ คำ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามเป็นประธานในพิธี
“การจัดการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนถือเป็นจุดเชื่อมต่อแนวความคิดทางศิลปะ และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และที่สำคัญที่สุดคือ ผลงานที่เข้าร่วมการประกวดสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นอาเซียนได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วิถีชีวิต หรือแม้กระทั่งสภาพธรรมชาติต่างๆ ผมรู้สึกซาบซึ้งในการให้ความช่วยเหลือและให้การสนับสนุนต่อการจัดงานในครั้งนี้อย่างดีเยี่ยม โดยกลุ่มบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่จะผลักดันให้ศิลปินอาเซียนได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์และความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่”นายเหงียน มันท์ คำ กล่าวกับผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานกว่า 400 คน อันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนาม และเจ้าหน้าที่ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนคณะทูตานุฑูตประจำกรุงฮานอย ตลอดจนศิลปินที่เข้าร่วมการประกวดจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน
คณะกรรมการในการตัดสินการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 ประกอบด้วยกรรมการ 9 ท่าน โดยมีตัวแทนจากไทย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และมีกรรมการเป็นกลางอีก 2 ท่าน จาก ฮ่องกง และออสเตรเลีย กรรมการจากประเทศไทยคือ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรม
“เรารู้สึกภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998กล่าวได้ว่าในปีนี้ ถือได้ว่าภาพทุกภาพที่เข้าร่วมประกวด มีการพัฒนาขึ้นมาก”นาย วู เจียง ฮอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งประเทศเวียดนาม 1 ในคณะกรรมการการตัดสินในครั้งนี้กล่าวแสดงความคิดเห็น
“ภาพผลงานที่เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นอาเซียนได้เป็นอย่างดี” นายเอส ชานดราเซคาราน กรรมการจากประเทศสิงคโปร์กล่าว “สำหรับภาพที่ได้รับการตัดสินให้เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดในครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนที่สุด”
ผลงานชื่อ “Mr.Foreign Speculator, Stop Damaging Our Country ” โดยนาย เกา เลียง เคียง ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลชนะเลิศศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 โดยศิลปินจะได้รับรางวัลเงินสด 10,000 เหรียญสหรัฐพร้อมถ้วยรางวัล “ภาพนี้แสดงออกให้ถึงความเจ็บปวด ความกดดันที่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนกำลังได้รับอยู่ในขณะนี้ อันเนื่องมาจากการถูกบีบเค้นทางอารมณ์จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำดังเช่นปัจจุบัน” นายนิรันจานราชา กรรมการผู้ตัดสินจากประเทศมาเลเซียกล่าว
การตัดสินเพื่อคัดเลือกผลงานที่สมควรแก่รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศทั้ง 4 รางวัลของการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ถูกคัดเลือกจากผลงานทั้งสิ้น 35 ชิ้น จากประเทศในกลุ่มอาเซียน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน โดยแต่ละประเทศจะคัดเลือกผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 5 ภาพ
สำหรับตัวแทนศิลปินไทยที่เข้าร่วมประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย 1998 ในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายธง อุดมผล จากภาพชื่อ “ขยะ: ภาพสะท้อนสังคมเมือง”, นายสิริชัย สอนชิต จากภาพชื่อ “ความผิดปกติทางจิตของสังคม”, นายสมพร แต้มประสิทธิ์ จากภาพชื่อ “พลังความอุดมสมบูรณ์”, นายสุเมธ จันฤาชาชัย จากภาพชื่อ “ความรู้สึก-สภาพแวดล้อม” และนางสาวสุวรรณี สารคณา จากภาพชื่อ “(Sickness) Patient ”
“ในปีนี้ นอกจากจะมีภาพเขียนทั้ง 35 ภาพจาก 7 ประเทศแล้ว เรายังได้รับเกียรติจากประเทศสมาชิกใหม่ของกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ลาวและพม่า ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงด้วย ซึ่งภาพผลงานทั้งหมดจะถูกนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมที่ Hanoi College of Fine Arts ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายนศกนี้ และจะย้ายไปจัดแสดง ณ นครโฮจิมินห์ ระหว่างเดือนมกราคม 2542 นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้กำหนดการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางวัฒนธรรมของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 6 ซึ่งจะมีขึ้น ณ กรุงฮานอย ในเดือนธันวาคม ศกนี้ ด้วย
“เราได้สัมผัสถึงความหมายของผลงานทั้ง 35 ชิ้น โดยผลงานทุกๆ ชิ้นล้วนแต่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาติและภูมิภาคของตนทั้งสิ้น” นายนีลล์ แมนตัน กรรมการชาติเป็นกลางชาวออสเตรเลียกล่าว “ผลงานที่เข้าร่วมการประกวดในปีนี้ มิเพียงเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน แต่ยังมีบางสิ่งที่ทำให้เราต้องคิดตาม โดยเราต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วศิลปินต้องการบอกอะไรให้ผู้ชมได้ทราบ” นายนีลล์กล่าวสรุป
ศิลปินชาวเวียดนามนายเลอ ธานห์ ธูวด์ 1 ใน 4 ศิลปินที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เป็นเจ้าของผลงานชื่อ “Urbanization ” ทั้งนี้ นายเลอ ธาน ธูวด์เคยเข้าร่วมการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปี 1996 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย เกี่ยวกับภาพดังกล่าว นายสวัสดิ์ ตันติสุข กรรมการตัดสินการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 จากประเทศไทย กล่าวว่า “ภาพ Urbanization ทำให้ผมประทับใจตั้งแต่แรกเห็น ทั้งๆ ที่ในช่วงแรก ผมไม่เข้าใจว่าภาพนี้ต้องการจะสื่อความหมายอะไร มันเหมือนกับว่าเราได้ฟังบทเพลงของต่างชาติแล้วเกิดความประทับใจโดยที่ไม่ต้องเข้าใจเนื้อหาหรือความหมายของมัน”
ศิลปินชาวเวียดนามอีกท่านที่เป็น 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 ก็คือ นายเหงียน ฮุย ฮอง จากภาพผลงานชื่อ “Return ” ซึ่งเป็นผลงานที่น่ายกย่องในด้านความชำนาญในเทคนิคการใช้เครื่องดม (Lacquer) และที่สำคัญที่สุดคือความสามารถที่นำเอางานไม้แกะมาประยุกต์ให้เป็นศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ได้อย่างน่าชื่นชม “ศิลปินชาวเวียดนามสามารถทำให้ภาพผลงานของเขา สะท้อนและบ่งบอกถึงอารมณ์ที่เขาต้องการแสดงออกได้เป็นอย่างดี” นางเกา ประธานคณะกรรมการตัดสินในครั้งนี้กล่าว
ภาพผลงานชื่อ “Indonesia is Lamenting ” ซึ่งใช้เทคนิคการวาดลายเส้นลงบนผืนผ้าใบโดยใช้ดินสอเป็นฝีมือของนายอิสสา เพอร์กาซา ศิลปินชาวอินโดนีเซีย เกี่ยวกับภาพดังกล่าวนายนิรันจาน กรรมการตัดสินกล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้เป็นศิลปะสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามความหมายที่แฝงไว้ในภาพก็สามารถแสดงให้ถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี ซึ่งศิลปินก็ได้สร้างสรรค์งานเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นของตน ”
“พลังความอุดมสมบูรณ์” ภาพจากฝีมือของศิลปินไทยนายสมพร แต้มประสิทธิ์ 1 ใน 4 ศิลปินที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 ใช้เมล็ดข้าวต่างๆ มาประกอบเป็นภาพบนเฟรม ซึ่งมีกรอบส่วนบนที่นูนโค้ง ช่วยให้ภาพมีลักษณะเคลื่อนไหว และมีชีวิตชีวา “เส้นโค้งที่ทำไว้บนเฟรมนั้นสามารถช่วยให้ภาพนี้งดงามขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในภาพได้เป็นอย่างดี ทำให้เรามองเห็นมิติต่างๆ ของภาพ” นายจันดรา หนึ่งในคณะกรรมการกล่าว
ผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 จะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัลท่านละ 5,000 เหรียญสหรัฐ
กลุ่มบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ผู้สนับสนุนการจัดการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนตั้งแต่ปี 2537จนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ที่สุดในโลก โดยดำเนินธุรกิจในทวีปเอเชียมาแล้วกว่า 30 ปี มีพนักงานทั่วโลกกว่า 150,000 คน และมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสในตลาดต่างๆ ทั่วโลก ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์คราฟท์ มิลเล่อร์เบียร์ เครื่องดื่มผลไม้ชนิดผงยี่ห้อแทง อาหารประเภทเนื้อยี่ห้อออสการ์ ไมเออร์ ผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อเจล-โอ และนาบิสโก มิลค์กา ซูกัส ทอปเบิลโรน กาแฟแมกซ์เวล เฮ้าส์ และผลิตภัณฑ์บุหรี่มาร์ลโบโร พาร์เลียเมนต์ แอลแอนด์เอ็ม และเวอร์จิเนียสลิมส์
กลุ่มบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส มีบริษัทในเครือที่สำคัญ 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ยูเอสเอ,บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์, บริษัท คราฟท์ ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์, บริษัท คราฟท์ ฟูดส์ อิงค์, บริษัท มิลเล่อร์ บริววิ่ง และบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส แคปิตอล คอรปอเรชั่น หมายเหตุ ท่านสามารถชมภาพผลงานทั้ง 35 ชิ้นได้จากสูจิบัตรของงานการประกวดศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน 1998 ที่ส่งมาพร้อมกันนี้
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดโทรศัพท์ 636-1840 โทรสาร 636-1855--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ