บีโอไอเสนอตั้ง "กลไกค้ำประกันสินเชื่อ" แก้สภาพคล่องให้ธุรกิจส่งออก-อุตฯเกษตร

ข่าวทั่วไป Friday February 6, 1998 19:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--6 ก.พ.--บีโอไอ
บอร์ดใหญ่บีโอไอเสนอตั้ง "กลไกค้ำประกันสินเชื่อ" เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง เป้าหมายมุ่งช่วยผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก คาดต้องมีเงินทุนเบื้องต้น 250 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยสมทบทั้งจากภาครัฐและเอกชนเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฯ เศรษฐกิจต่อไป
นายสถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมไดัเสนอจัดตั้งกลไกค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง ช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ส่งออก
"ในหลายประเทศมีการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเงินกู้เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้แก่ผู้ส่งออกมากขึ้น ซึ่งรูปแบบของสหรัฐฯมีโครงการค้ำประกันเงินทุนหมุนเวียน หรือ Working Capital Guarantee Program ที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกาน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้" นายสถาพรกล่าว
หลักการสำคัญของกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าว ประกอบด้วย
1) เงินทุนของกลไกค้ำประกันสินเชื่อควรมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอาจมีวงเงินขั้นต้น 250 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
2) กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออก รวมทั้งกิจการที่สนับสนุนการส่งออก และอุตสาหกรรมเกษตร
3) กลไกค้ำประกันสินเชื่อจะคิดค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินในการค้ำประกัน และต้องกำหนดชัดเจนว่าการชดเชยมีเงื่อนไขอย่างไร
4) กระบวนการดำเนินการแบ่งได้ 2 แนวทาง ดังนี้
แนวทางแรก ผ่านสถาบันการเงิน โดยผู้ประกอบการขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน หากสถาบันการเงินไม่มีความมั่นใจในการให้กู้ก็สามารถขอรับประกันความเสี่ยงได้จากกลไกค้ำประกันสินเชื่อโดยจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ กลไกค้ำประกันเงินกู้ก็จะชดเชยให้
แนวทางที่สอง ผ่านกลไกค้ำประกัน โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับการค้ำประกันได้จากกลไกค้ำประกันโดยตรง เมื่อได้สัญญาค้ำประกันเงินกู้แล้วก็สามารถนำโครงการไปขอเงินกู้จากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรี ว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับที่มาของการจัดตั้งกลไกค้ำประกันสินเชื่อเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องนี้ สืบเนื่องจากการปิดกิจการบริษัทเงินทุน 56 แห่ง ทำให้สภาพคล่องทางการเงินในตลาดหายไปส่วนหนึ่ง และสถาบันการเงินที่เหลือก็ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะเกรงปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่ จะรุนแรงจึงไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจส่งออกที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศได้มากในช่วงนี้ต้องประสบปัญหาสภาพคล่อง
แม้ว่าธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะมีบริการช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ส่งออกแล้ว แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่ และโครงการเงินกู้ญี่ปุ่นภายใต้โครงการค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศโดยไม่มีข้อผูกพัน (Overseas United Loan Insurance) และโครงการค้ำประกันการชำระเงินล่วงหน้าสำหรับผู้นำเข้าของญี่ปุ่น (Prepayment Import Insurance) มีข้อจำกัดสำหรับบริษัทไทยเพราะสถาบันการเงินหรือบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปล่อยกู้ให้แก่บริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นเป็นหลัก จึงเห็นควรกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้มากขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ