ปะทะความคิดเพื่อหาทางออก “SOTUS ในรั้วมหา’ลัย...”

ข่าวทั่วไป Friday May 31, 2013 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--ฟรีดอมโซน อุบลราชธานี ฟรีดอมโซน ร่วมกับ เยาวชนกลุ่มแว่นขยาย และกลุ่มแสงแห่งเสรี จัดงานเสวนาประเด็น “SOTUS ในรั้วมหา’ลัย...” ใน วันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ณ ลานหน้าฟรีดอมโซน อุบลราชธานี เพื่อการสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนพูดคุยมุมมองให้เกิดขึ้นในรั้วสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฟังเสวนา โดย นางสาวขจรปรีย์ ภู่งาม เจ้าหน้าที่ศูน์ฟรีดอมโซน อุบลราชธานี และตามด้วยการอ่านบทกวีสะท้อนสังคม โดย นายปรเมศวร์ ศิริภาคเพียร เยาวชนกลุ่มแสงแห่งเสรี เป็นบทกวีสะท้อนชีวิตของน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการกดขี่ทางอำนาจ และสะท้อนถึงการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ที่ปราศจากการกดขี่และการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ในกิจกรรมรับน้องและกิจกรรมอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย และตามด้วยกิจกรรมเสวนามีวิทยากรเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายตรีเนตร สาระพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, นายปิยรัฐ จงเทพ เลขาธิการเครือข่ายเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งประเทศไทย, และนายวัชรากร ชาวตะโปน นักศึกษาที่มีบทบาทเป็นสตาร์ฟกิจกรรมรับน้อง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย นายกมล หอมกลิ่น เจ้าหน้าที่จากสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และนายพงษ์เทพ บุญกล้า เจ้าหน้าที่จากฟรีดอมโซน นายตรีเนตร สารพงษ์ กล่าวถึง สถานการณ์การรับน้องในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่มีการดำเนินกิจกรรมหลากหลาย บางกิจกรรมมีทั้งที่ดำเนินการอย่างสร้างสรรค์และบางกิจกรรมที่สอ่ไปทางการบังคับละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักศึกษาใหม่ “คนสอนให้เชื่อ สัตว์สอนให้เชื่อง” หากในสังคมไม่มีการกำหนดกรอบสังคมก็อยู่ลำบาก เมื่อคนในสังคมอ่อนแล้วการปกครองจะเกิดขึ้นตามมา บางกิจกรรมที่เป็นโรงการเกี่ยวกับการรับน้องของหลายสถาบันการศึกษาเป็นเพียงการแก้ไขปี พ.ศ. ในการดำเนินโรงการ และการเปลี่ยนผู้ลงนามผู้รับผิดชอบคุณใหม่เท่านั้น โดยอ้างว่าปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแต่มิได้พิจารณาว่าปีนี้จะทำอย่างไร เป็นการใช้สิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีตมาตอบปัจจุบัน ในบางครั้งจึงทำให้เกิดการดำเนินกิจกรรมที่สุดขั้วข้ามเส้นความเหมาะสม หากจะดำเนินกิจกรรมที่ส่อไปทางการใช้ความรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคนที่มีอาการเจ็บป่วย และต้องให้ความสำคัญกับการติดตามสำรวจผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วม และทางออกที่จะนำไปสู่การรับน้องที่เหมาะสมควรมีการเปิดโอกาสในน้องใหม่ได้มีความคิดเห็นในการดำเนินกิจกรรม อย่างไรก็ดีการรับน้องควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เคารพสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ของน้องใหม่ นายวัชรากร ชาวตะโปน กล่าวถึงบทบาทที่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการรับน้องที่เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง “เสื่อถ้าไม่มีการมาถักร้อยก็ไม่สามารถเป็นเสื่อผืนที่สามารถปูนั่งได้” วลีที่ต้องการเชื่อมโยงให้เห็นว่าในสังคมที่มีความหลากหลายหากไม่มีกฎระเบียบจะทำให้เกิดความวุ่นวาย บางครั้งการรับน้องที่มีการ “ว๊าก” ผลลัภธ์ที่ออกมาอาจไม่ใช่การทำร้ายเพียงจิตใจ หากลองสัมผัสถึงสิ่งที่ทำแล้วนั้น มันมีความหมายที่จะสามารถพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่เข้มแข็งและกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา “เจอหลุมแล้วหยุด ก็เท่ากับเป็นผู้แพ้” ทุกคนอาจไม่สามารถวิ่งพร้อมกัน บางคนคลาน บางคนเดิน หรือบางคนวิ่ง สิ่งที่เหมือนคือทุกคนพยายามที่จะเคลื่อนที่ ประสบการณ์จะเป็นส่วนที่หล่อหลอมให้คนสามารถเรียนรู้ชีวิต และในอนาคตหากมองย้อนกลับมาจะทำให้เราเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งฝากถึงน้องใหม่ เพื่อนนักศึกษาว่า ชีวิตที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบสวยงามทุกอย่าง ขอให้เราเข้าใจในสิ่งที่ทำและยอมรับในความต่างการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน นายปิยรัฐ จงเทพ กล่าวถึงสถานการณ์การรับน้องในต่างประเทศที่ได้ยกเลิกไปแล้ว พร้อมทั้งกล่าวถึงสาเหตุที่เกิดการรับน้องจากสถานการการเมืองการปกครองในยุคที่ประเทศไทยต้องการที่จะฝึกคนในเป็นผู้ปกครองในภูมิภาค โดยรัฐมีความมุ่งหวังที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง หลังจากนั้นการรับน้องได้แพร่ไปทั่วประเทศ ทั้งเกิดจากการนำเอาการรับน้องในหลายๆ ส่วนมาผสมปนกันกลายเป็นการรับน้องในปัจจุบันที่ไม่มีรู้แบบแน่นอน “ต้องการให้เกิดการรับน้องที่ไม่ละเมิดความเป็นมนุษย์” วลีที่ต้องการชี้ให้เห็นการรับน้องที่เป็นเรื่องป่าเถื่อนแปลกวิสัยคนที่เป็นปัญญาชนในมหาวิทยาลัย การแสดงอาการดังกล่าวเป็นการนำมาซึ่งการกดความคิดของน้องใหม่ให้อยู่ใต้นักศึกษารุ่นพี่ พร้อมทั้งกล่าวถึงความมุ่งหวังที่จะเห็นการปฏิรูปการรับน้องอันจะนำไปสู่การเคารพสิทธิของน้องใหม่อย่างแท้จริง และหวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือของคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในรั้วมหาวิทยาลัย ช่วงท้ายรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและตั้งคำถามกับวิทยากรที่ร่วมเสวนา ผู้เข้าร่วมฟังเสวนามีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ไม่กระทบต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของน้องใหม่ ต้องการเห็นการะบวนการดำเนินกิจกรรมรับน้องที่มีการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมจะน้องใหม่ด้วย มีการดำเนินการและการติดตามประเมินผลที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรม เนื่องจากบทสรุปสุดท้าย “สังคมที่เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มุ่งหวังให้เกิดความหลากหลายนั้น การมีความเห็นเหมือนหรือต่างไม่ใช่สิ่งที่ถูกผิด แต่การสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมอย่างมีเหตุผลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมสืบต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ