ก.ไอซีที เร่งผลักดันแผน IPv6 ให้เป็นรูปธรรม หวังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IP

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 5, 2013 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย ว่า เนื่องจากอัตราการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจำนวนหมายเลขไอพีรุ่นเดิม Internet Protocol version 4 (IPv4) ในโลกกำลังจะถูกใช้หมดไปและไม่เพียงพอกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปัญหาด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้งานโทรศัพท์ 3G โดยเฉพาะ LTE (Long Term Evolution) และ 4G จะมีปัญหาด้วย การเปลี่ยนถ่ายอินเทอร์เน็ตสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 6 (Internet Protocol version 6: IPv6) จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IP ได้ เนื่องจาก IPv6 มีจำนวนหมายเลข IP มากมายมหาศาล IPv6 คือชุดตัวเลขสัญลักษณ์ที่ใช้ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตทั่วโลกรุ่นใหม่ โดย IPv4 มีจำนวนหมายเลขประมาณ 4 พันล้าน ขณะที่ IPv6 มีจำนวนหมายเลขจำนวน 340 ล้านล้านล้านล้าน ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นมอบหมายให้กระทรวงไอซีที เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการตามแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย ให้เป็นวาระแห่งชาติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ สำหรับแผนปฏิบัติการดังกล่าว เป็นแผนปฏิบัติการระยะสั้น มีระยะดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2556 — 2558) โดย กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2556 จะต้องจัดตั้งศูนย์ประสานงานและปฏิบัติการ IPv6 เพื่อให้คำปรึกษา อบรม ทดสอบ ตรวจประเมินด้าน IPv6 ของประเทศไทย ภายในปี 2557 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ซึ่งครอบคลุม ผู้ให้บริการในระบบใช้สายและไร้สาย ต้องเปิดให้บริการเชื่อมต่อและใช้งานที่รองรับ IPv6 ได้ และภายในปี 2558 หน่วยงานภาครัฐระดับกรมขึ้นไปทุกหน่วยงาน จะต้องมีการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตที่รองรับ IPv6 รวมทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐทุกระดับ (NEdNet และ UniNet) ให้สามารถใช้งาน IPv6 ได้อย่างน้อย 10,000 สถาบัน โดยกิจกรรมสำคัญเร่งด่วน (Flagship Project) ที่จะต้องรีบดำเนินการ คือ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและปฏิบัติการ IPv6 เพื่อใช้เป็นศูนย์อบรม ให้คำปรึกษา ทดสอบตรวจประเมินด้าน IPv6 ของประเทศไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าว จะมีหน้าที่จัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะพื้นฐานและคุณลักษณะด้าน IPv6 ของอุปกรณ์เครือข่าย รวมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยทดสอบอุปกรณ์และทดสอบความพร้อมของเครือข่าย (Testbed) เพื่อทดสอบอุปกรณ์ว่าสามารถรองรับและเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐาน IPv6 หรือไม่ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ จัดอบรมทั้งแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ ด้าน IPv6 และตรวจประเมินตามเป้าหมายตัวชี้วัดที่ระบุในร่างแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ประเทศไทย ส่วนกิจกรรมด้านอื่นๆ ที่จะทำให้แผนฯบรรลุวัตถุประสงค์ในระยะยาว ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้งาน IPv6 แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กิจกรรมด้านการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในหน่วยงานภาครัฐ และกิจกรรมด้านการพัฒนาโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ต ด้านที่สอง คือ การพัฒนาบุคลากร เป็นกิจกรรมที่จะช่วยในการสนับสนุนและส่งเสริมทั้งด้านความเข้าใจ ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้าน IPv6 โดยได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การพัฒนาและเตรียมความพร้อมของบุคลากรภาครัฐ และการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้าน ICT ของประเทศไทยโดยรวม ด้านที่สาม คือ การส่งเสริมการใช้งาน IPv6 นอกจากการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านบุคลากรแล้ว การส่งเสริมการให้บริการ (e-service) โดยเฉพาะบริการสาธารณะของหน่วยงานให้สามารถรองรับการใช้งาน IPv6 ได้นั้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การใช้งาน IPv6 มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสุดท้ายคือ ด้านการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการใช้งาน IPv6 ซึ่งเป็นปัจจัย ที่สำคัญอีกประการที่จะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินงานตามร่างแผนปฏิบัติการฯ บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ “นอกจาก IPv6 จะแก้ปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IP ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว IPv6 ยังมีการปรับปรุงคุณลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อรองรับระบบแอพพลิเคชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเข้าสู่ IPv6 จึงนับว่าเป็นการปรับปรุงอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ตั้งแต่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การวางแผนเพื่อการปรับเปลี่ยนการใช้งาน IPv6 เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการขยายตัวอย่างมั่นคงของอินเทอร์เน็ตต่อวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโลก” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ฯ กล่าว ติดต่อ: PR.MICT 02-1416747

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ