นิติศาสตร์จุฬาเปิด 2 หลักสูตรใหม่ระดับปริญญาโท-เอก เผยความคืบหน้าก่อตั้ง "สภานิติศึกษา"

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 1997 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--30 ธ.ค.--จุฬาฯ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าในปีการศึกษา 2541 ทางคณะฯ จะเปิดสอนหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตทางกฎหมายเศรษฐกิจ ซึ่งรับผู้สมัครที่สำเร็จปริญญาทุกสาขาที่มีประสบการณ์การทำงาน กล่าวคือ ถ้าสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เศรษฐศาสตรบัณฑิต บริหารธุรกิจบัณฑิต จะต้องมีประสบการณ์การทำงาน 3 ปี ถ้าสำเร็จการศึกษาด้านอื่นต้องมีประสบการณ์การทำงาน 4 ปี แต่ถ้าสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตในสาขาใดสาขาหนึ่งก็ไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน การศึกษาในหลักสูตรนี้จะเน้นลักษณะสหสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ดังนั้นวิชาที่ศึกษาจะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับเศรษฐกิจ อาทิ วิชาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับธุรกิจ การเจรจาต่อรองและการร่างสัญญา กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจและการจัดการ ภาษีอากรกับธุรกิจ กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ กระบวนการระงับข้อพิพาททางธุรกิจ กฎหมายอาญาและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับการเงินธุรกิจ กฎหมายกับการวางแผนการตลาด กฎหมายอุตสาหกรรมและแรงงาน และการวิเคราะห์กฎหมายในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นต้น โดยใช้เวลาในการศึกษาไม่เกิน 2 ปี
สำหรับผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านกฎหมายมาก่อนจะต้องศึกษาวิชากฎหมายกับนิติกระบวน ส่วนผู้ที่ไม่ได้จบบริหารธุรกิจมาก่อนต้องศึกษาหลักการบริหารธุรกิจด้วย
หลักสูตรดังกล่าวจัดทั้งการเรียนการสอนในเวลาราชการ (รับ 10 คน ต้องทำวิทยานิพนธ์) และนอกเวลาราชการรวมทั้งวันเสาร์ (รับ 40 คน อาจเลือกทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ก็ได้) ผู้ที่สนใจขอทราบรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล หรือ คุณวีนา สิริขจร สำนักงานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต โทร 2182016-7, 2182036-7 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2541
สำหรับหลักสูตรที่สองที่จะเปิดสอนในปีการศึกษา 2541 คือหลักสูตรปริญญาเอกทางกฎหมายหรือนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ซึ่งรับผู้สำเร็จปริญญาโททางกฎหมายเข้ามาทำงานวิจัยทางนิติศาสตร์ในรูปวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเป็นนักวิชาการทางนิติศาสตร์ต่อไปโดยผู้สมัครควรทำการวิจัยเบื้องต้นอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเตรียมโครงร่างวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์ การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาจะพิจารณาโครงร่างวิทยานิพนธ์และความพร้อมที่จะทำการวิจัยเป็นสำคัญ นอกจากนั้นผู้สมัครในหลักสูตรปริญญาเอกนี้ยังมีโอกาสขอทุนอุดหนุนการศึกษาจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ด้วย
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่ ผศ.ทัชชมัย ฤกษะสุต คุณวีนา สิริขจรคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 2182016-7, 2182022 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2540--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ