รมว.ไอซีที เผยภารกิจเพื่อป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ต

ข่าวเทคโนโลยี Friday June 14, 2013 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงฯ ในการรับมือกับภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ต ว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทั้งรายได้ และสังคม รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน แต่แอพพลิเคชั่น (Application) ต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น หลายคนมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ขณะที่บางคนอาจใช้งานไม่ถูกต้องและส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลต่าง ๆ ตลอดจนความมั่นคงของชาติ ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว อาทิ การจัดตั้งศูนย์ Cyber Security Operation Center หรือ ศูนย์ CSOS ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและป้องกันภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และสังคมเครือข่ายที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบวิเคราะห์เว็บไซต์และข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายต่างๆ อันเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงฯ ได้เปิดให้บริการโทรศัพท์สายด่วน 1212 จำนวน 5 คู่สาย เพื่อรับฟังเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชน และอีเมล1212@mict.mail.go.th สำหรับรับแจ้งข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นยังมีโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ใช้คอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีความถูกต้องเหมาะสม โดยมีการออกแบบ พัฒนาและนำเนื้อหาหลักสูตรสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปฝึกอบรมเผยแพร่ สู่แกนนำ ลูกเสือ ครู/อาจารย์ และบุคคลทั่วไป รวมทั้งมีการสร้างเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในภาคประชาชนเพื่อการกำจัดข้อความ สื่อ บทความที่เป็นอันตราย ตลอดจนมีการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของลูกเสือไซเบอร์ในมิติของการพัฒนาศักยภาพและการขยายผลเครือข่ายอาสาสมัครในการช่วยสอดส่องดูแลเพื่อการเพิ่มจำนวนให้ได้ในปริมาณที่รวดเร็วขึ้น อีกทั้งกระทรวงฯ ยังได้จัดทำโปรแกรม ICT House Keeper ซึ่งเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อช่วยให้ครู อาจารย์ และผู้ปกครองสามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันเว็บไซต์และกำหนดเวลาการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กและเยาวชนได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Committee : NCSC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกระทรวงไอซีที โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่หลักในการจัดทำนโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการปกป้อง ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ด้านภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ครอบคลุมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจากการจัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาแผนขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ และกำหนดแนวทางพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการปกป้องราชอาณาจักรไทยจากภัยคุกคามไซเบอร์ โดยมีกรอบนโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ของกระทรวงไอซีที ประกอบด้วย การบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีการวางยุทธศาสตร์รอง 5 ด้าน ประกอบด้วย การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การสร้างความตระหนักและรอบรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การพัฒนาระเบียบและกฎหมายเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมอบหมายให้ สพธอ. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีที เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในภาคเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ และมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร นอกจากนั้น สพธอ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะอนุกรรมการฯ ที่ได้จัดตั้งขึ้นมาอีกจำนวน 6 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของราชอาณาจักร ด้านรับมือการรับมือกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ด้านการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้านการสร้างบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้านการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ ด้านการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (R&D) ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ประสบผลสำเร็จ ติดต่อ: PR.MICT 02-1416747

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ