poll สำรวจพฤติกรรมการเลียนแบบคนดัง

ข่าวทั่วไป Friday June 14, 2013 16:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ (วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา)โพลล์สำรวจพฤติกรรมการเลียนแบบซุปตาร์หรือนักแสดงจากบทบาทสมมุติของวัยรุ่นไทยในกรุงเทพมหานคร ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการและดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจเรื่องพฤติกรรมการเลียนแบบคนดังหรือคนที่ตนชื่นชอบของเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากกรณีรายการ Thailand got talent ออกอากาศเผยแพร่ผู้เข้าประกวดที่ชื่อว่า “สิทธัตถะ เอเมอรัล” ผ่านช่องฟรีทีวี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่าแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ลงท้ายด้วยหางเสียงคำว่า “ครับ” เกิดวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักในทำนองตำหนิผู้เข้าประกวด และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ว่าไม่ควบคุมการนำเสนอพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลในรายการ และตำหนิสถานีโทรทัศน์ว่าไม่ควบคุมการออกอากาศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบโดยเฉพาะจากกลุ่มวัยรุ่น ผลสำรวจนี้ได้กระทำขึ้นก่อนมีการออกมายอมรับของหนึ่งในคณะกรรมการว่าไม่ทราบว่าผู้เข้าประกวดมีความบกพร่อง จากสถานการณ์ดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ทำการสำรวจกลุ่มเยาวชนไทย ในกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 13-20 ปี ระดับการศึกษาภาคบังคับถึงระดับปริญญาตรี จำนวน 1,048 คนโดยวิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ในระหว่างวันที่ 5-11 มิถุนายน 2556 พบว่า วัยรุ่นมีพฤติกรรมเลียนแบบตัวละครหรือนักแสดงสูงถึง 81.10% ,แขกรับเชิญ/ผู้ร่วมแข่งขัน 75.38% ,พิธีกร/ผู้ดำเนินรายการ 73.14 % , บุคคลในข่าว/สารคดี 66.50 % ,ผู้ประกาศข่าว/นักข่าว 47.19% และบุคคลอื่น 8.99 % ตามลำดับโดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับชมโทรทัศน์โดยเฉลี่ย 1 ถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยคิดเป็นร้อยละ 43.03 หรือเท่ากับจำนวน 451 คน รองลงมารับชมโทรทัศน์โดยเฉลี่ย 4 ถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 27.10 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.27 และ 12.60 รับชมโทรทัศน์โดยเฉลี่ย น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และ มากกว่า 5 ชั่วโมงส่วนใหญ่รับชมโทรทัศน์ในช่วงเวลา 19:01-23:00 น. งานวิจัยยังเผยถึงสถิติที่น่าสนใจว่ากลุ่มวัยรุ่นตัวอย่างที่สำรวจร้อยละ 35.69 มักรับชมโทรทัศน์ตามลำพัง ส่วนใหญ่หรือ 68.13 % ชอบชมรายการประเภทปกิณกะบันเทิง (วาไรตี้โชว์) 75.57 % นิยมรับชมรายการเรียลลิตี้/การแสดงความสามารถ กลุ่มวัยรุ่นนิยมรับชมละคร/ภาพยนตร์ มีอัตราสูงที่สุดคือ 79.10% สรุปผลการวิจัยหัวข้อพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ และ การลอกเลียนแบบจากรายการโทรทัศน์ของเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานครของสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม จากกลุ่มตัวอย่าง 77.29% มีความคิดเห็นว่า การนำเสนอรายการโทรทัศน์ในปัจจุบันมีอิทธิพลปานกลางถึงมากให้กลุ่มเยาวชนมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ 62.12% มีพฤติกรรมลอกเลียนแบบจากรายการโทรทัศน์บ้าง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 75.08% นิยมลอกเลียนแบบพฤติกรรมการแสดงออกหรือกิริยาท่าทางของบุคคลในรายการ และ กลุ่มตัวอย่างถึง 81.10%นิยมลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากตัวละครหรือนักแสดง สำหรับสาเหตุสำคัญที่สุดในการมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบของกลุ่มตัวอย่างคือ มีความชอบบุคคลในรายการเป็นการเฉพาะ 81.82% สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยี ได้สรุปประเด็นข้อคิดเห็นจาก เยาวชนไทยกลุ่มตัวอย่าง เรื่องการให้คำแนะนำจากผู้ปกครองต่อการนำเสนอเนื้อหาในรายการ การแสดงกิริยาท่าทาง พฤติกรรม คำพูดของบุคคลสาธารณะไม่ว่าจะเป็นนักแสดง พิธีกร แขกรับเชิญ ผู้แข่งขันฯลฯ คำแนะนำจากผู้ปกครองมีความสำคัญต่อการเลือกลอกเลียนแบบในระดับที่เหมาะสม สูงถึง 82.25 %

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ