ฟรอสต์ฯ เผย แรงผลักดันการใช้งานคลาวด์ในไทยยังไม่แข็งแกร่ง

ข่าวทั่วไป Friday June 14, 2013 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.-- เอสเอ็มอีไทยมีความสนใจเรื่องคลาวด์ แต่ติดประเด็นด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับใช้งาน คาดภายในปี 2558 ผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยมีการลงทุนในบริการคลาวด์อย่างแพร่หลายแน่นอน นางสาว เฉลิมพร อภิบุณโยภาส นักวิเคราะห์ธุรกิจไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกเปิดเผยว่า แม้ว่าการให้บริการคลาวด์จากทั้งผู้ให้บริการคลาวด์ หรือ Cloud Services Providers —CSP และผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล (Datacenter Services Providers) ในประเทศไทยจะนำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลายมาสู่ตลาดมาระยะหนึ่งตั้งแต่ช่วง ปี 2552 เป็นต้นมาและการแข่งขันในการนำเสนอบริการเข้าสู่ตลาดอย่างจริงจังได้เกิดตั้งแต่หลังปี 2554 เป็นต้นมานั้น ปัจจุบัน การตอบรับจากผู้ใช้บริการทั้งจากส่วนองค์กร เอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำ อันเนื่องมาจากกลุ่มผู้ใช้บริการยังขาดความรู้ความเข้าใจในประเภทของบริการ รูปแบบของการคิดค่าใช้จ่าย รวมถึงข้อกังวลบางประการจากการใช้งานทรัพยากรร่วมกัน (Cloud services charge and services models) อาทิ ความกังวลในระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและสถานที่ที่ข้อมูลหรือสารสนเทศนั้นถูกเก็บอยู่จริงจากผู้ให้บริการ (Physical storage location) หรือกฎระเบียบข้อบังคับในการจัดเก็บข้อมูลจากบางอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งความกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้การประยุกต์ใช้บริการประเภทนี้ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรในประเทศ “นอกจากนี้ในด้านของผู้ให้บริการคลาวด์เองยังคงนำเสนอโซลูชั่นที่ยังไม่หลากหลายและเป็นที่น่าสนใจเท่าที่ควร ปัจจุบันการให้บริการคลาวด์โซลูชั่นนั้นมาจากคลาวน์ใน 2 แบบหลัก ได้แก่ Infrastructure as a services (IaaS) และ Software as a services (SaaS) โดยมีรูปแบบในการให้บริการที่คล้ายคลึงกัน คือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีวิธีการคิดค่าบริการตามทรัพยากรที่ใช้เป็นรายเดือน รายปี หรือคิดตามบัญชีผู้ใช้งาน เพียงแต่ต่างกันที่ทรัพยากรในการให้บริการ ซึ่งผู้ใช้บริการทั่วไป (หรือแม้กระทั่งบางองค์กร) เอง ก็ยังไม่มีความเข้าใจที่ดีพอถึงการเลือกรูปแบบการใช้งานและค่าบริการในแต่ประเภท” “รูปแบบการให้บริการคลาวด์ในอนาคตของประเทศไทยจึงควรออกมาในลักษณะของ Cloud solution for business โดยไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มงานการให้บริการ แต่ควรจะออกมาในลักษณะโซลูชั่นรวมที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ อาทิ การให้บริการคลาวด์แอพพลิเคชั่นทางธุรกิจควบคู่กับบริการการจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นโซลูชั่นสำหรับงานธุรกิจ อาทิ กลุ่มงานทางการขายและการตลาด หรือการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าและการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น” นางสาวเฉลิมพร กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ