คนไทยเครียด!!! พบสถิติผู้ป่วยคลุ้มคลั่งจำนวนมาก สพฉ.แนะวิธีช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

ข่าวทั่วไป Tuesday June 25, 2013 16:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คนไทยเครียด!!! พบสถิติผู้ป่วยคลุ้มคลั่งจำนวนมาก สพฉ.แนะวิธีช่วยเหลืออย่างถูกวิธี หลักเกิดเหตุระทึกขวัญที่ขอนแก่น ย้ำก่อนเข้าให้การช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้ป่วย เผยปี 55-56 ออกช่วยเหลือผู้ป่วยคลุ้มคลั่งกว่า19,240ครั้ง ด้วยสภาวะสังคมปัจจุบันมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ก่อให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม หรือแม้กระทั่งปัญหาครอบครัว ส่งผลให้มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถแบกรับกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทำให้ป่วยเป็นโรคจิตเพิ่มมากขึ้น โดยจากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ามารับการรักษามีจำนวนกว่า 1,076,155 คน ทั้งนี้ลักษณะของการป่วยโรคจิตมีหลายประเภท แต่ประเภทที่น่าเป็นห่วงคือโรคจิตที่จะทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร่างกายตนเองและทำร้ายร่างกายผู้อื่น ได้แก่ โรคจิตชนิดซึมเศร้า โดยคนที่เป็นโรคจิตชนิดนี้จะมีอาการเฉื่อยชา ไม่ดูแลตนเอง เบื่ออาหาร คิดมาก วิตกกังวล บางคนก็ร้องไห้ตลอดเวลา และบางคนอาจตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีอาการโรคจิตที่เกิดจากสารเสพติดที่ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น โดยผู้ป่วยโรคจิตทั้งสองกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากที่สุด โดยล่าสุดได้มีกรณีผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดคลุ้มคลั่งที่ จ.ขอนแก่น และใช้มีดจี้คอตัวเอง จนถูกหลอดลมด้านหน้า ส่งผลให้หายใจลำบาก ซึ่งหน่วยกู้ชีพจำเป็นต้องเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากกรณีนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงเล็งเห็นว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินควรรองรับกับผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกประเภท และประชาชนทั่วไปควรจะมีความรู้หากพบเห็นผู้ป่วยโรคจิตจากอาการดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยผู้ประสบเหตุและต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย นางสุภลักษณ์ ชารีพัดพยาบาลวิชาชีพ ประจำศูนย์สื่อสารสั่งการ โรงพยาบาลขอนแก่นกล่าวว่า หากประชาชนทั่วไปพบเห็นเหตุการณ์ของผู้ป่วยโรคจิตในลักษณะนี้และเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเอง และทำร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้พบเห็นเหตุการณ์จะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ ผู้พบเหตุจะต้องประเมินสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ให้การช่วยเหลือเองและกับผู้ป่วยด้วย โดยจะต้องพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย และต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของผู้ป่วย ในกรณีที่ปัญหานั้นๆ สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งแสดงความเข้าใจในปัญหาของผู้ป่วย ไม่ซ้ำเติมและทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตื่นตระหนกมากยิ่งขึ้น สำหรับขั้นตอนการช่วยเหลือมีดังนี้ 1. โทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ 2.บอกผู้ป่วยว่าเรามาช่วยเหลือ เราพร้อมที่จะทำตามคำร้องขอ3. แนะนำให้นั่งลงและคุยกัน ควรปลดอาวุธให้เรียบร้อยก่อนทำการช่วยเหลือแต่ทั้งนี้หากประเมินว่าไม่ปลอดภัยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้การช่วยเหลือจะดีกว่า 4. หากผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกภายนอกมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการห้ามเลือด คือให้ใช้ผ้าสะอาดกดให้แน่นในตำแหน่งบาดแผล เพื่อหยุดเลือดที่ออก แต่ทั้งนี้จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองด้วย อาทิ ถุงมือ หน้ากาก เสื้อคลุมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือที่เหมาะสมและปลอดภัยต้องเริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุที่ดี ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความปลอดภัยและทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปควรสังเกตผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่ออาการโรคจิตหรือไม่ โดยอาการในเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคจิตจะมีอาการซึมเศร้า เก็บตัว จากที่เคยเรียบร้อยก็จะกลายเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงจนน่ากลัว ไม่ชอบอาบน้ำ สะสมขยะ พูดจาหรือหัวเราะอยู่คนเดียว ซึ่งหากพบเห็นควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาและบำบัด เพื่อลดอัตราการเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยสถิติการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยเหลือจากอาการคลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์ 11,652 ครั้ง และในปี 2556 นี้ 7,588 (ตัวเลขตั้งแต่ ต.ค.55-มิ.ย.56) ดังนั้นหากพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ