4 หน่วยงานเชื่อมกลไกขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน: สช.ตั้งเป้าขยายพื้นที่ถึงระดับตำบล

ข่าวทั่วไป Thursday June 27, 2013 13:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สช. หน่วยงานด้านสุขภาพผนึกกำลัง เน้นแผนเชิงรุกสร้างสุขภาวะชุมชน มุ่งบูรณาการ คน กลไกการทำงาน ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ทุกจังหวัด มั่นใจเป็นกระบวนการ เครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิต แนะผู้ปฏิบัติงานใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของ พร้อมดึง อสม.เป็นทัพหน้าร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานหลักด้านสุขภาพ ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work shop) ของหน่วยงานภาคีสุขภาพ (สปสช.-สสส.-สช.-สธ.) ในหัวข้อเรื่อง “การบูรณาการสุขภาวะชุมชน” ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเตรียมความพร้อมของฐานปฏิบัติการ โดยใช้งานเน้นหนักของกระทรวงสาธารณสุข เป็นภารกิจร่วมของหน่วยงานภาคีต่างๆด้วย 4-6 เรื่อง ที่สามารถดำเนินการเป็นรูปธรรมได้ในการขับเคลื่อน อาทิ เช่น (1) การดูแลสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน/ความดันสูง (2) เพิ่มคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน (3) ขยายศูนย์กิจกรรมผู้สูงอายุในชุมชน และ (4) พัฒนาระบบดูแลคนพิการทุพพลภาพที่ติดบ้านติดเตียงในชุมชน อีกทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นปัญหาและอุปสรรคของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนตัวแทนชุมชนในการสนับสนุนชุมชน ท้องถิ่น มุ่งสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีในอนาคต นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนปฏิบัติการในพื้นที่ สช. กล่าวว่า สช. เป็นหน่วยหนึ่ง ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะระดับกลไกจังหวัด พร้อมกับการพัฒนางานวิชาการและการสร้างเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อให้มีบทบาทเชื่อมโยงกันทั้ง ในเวทีระดับระดับจังหวัด และระดับชาติ ในขณะนี้ ได้มีการสนับสนุนการนำเครื่องมือตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เช่น ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ไปปรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานให้แก่ชุมชน การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับชุมชน พร้อมปรับปรุงกลไกสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด(PHA) ให้เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนกระบวนการ ที่เป็นระบบ มีแบบแผนและต่อเนื่อง นำไปสู่เป้าหมายการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการแผนงานสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพ ที่ทั้ง4 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินการนั้น เป็นเครื่องมือเปลี่ยนวิธีคิดชาวบ้านใหม่ เพื่อยกระดับตนเอง จากแค่ราษฎรมาเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความรู้ร้อน รู้หนาว กับปัญหาที่พบเห็นในสังคม รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของชุมชนและนโยบายสาธารณะ แต่หลักการทำงานของผู้ปฏิบัติทุกหน่วยนั้น จำเป็นต้องมาปรับวิธีคิดร่วมกันจากการทำงานเชิงเดี่ยว มาสู่การทำงานรวมหมู่ โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง มีประชาชนเป็นเป้าหมาย เน้นให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของนโยบาย จากนั้นกระบวนการขับเคลื่อนก็จะเปลี่ยนจากการที่หน่วยงานราชการเป็นฝ่ายนำชาวบ้าน มาเป็นชาวบ้านร่วมกันคิดร่วมกันทำเอง ที่สำคัญคือต้องให้ภาคประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนราชการ ร่วมมือกันความเข้มแข็งของชุมชนจึงจะเกิดขึ้น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสป.สช. กล่าวว่า การทำงานแบบบูรณาการสามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยการนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมารวมกัน กล่าวคือนำศูนย์การเรียนรู้ของสสส. กว่า 50 แห่ง มีเครือข่ายรวมกันเกือบ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับทาง สป.สช. ซึ่งมีโครงการร่วมกับองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศ และมีกองทุนอยู่กว่า 7,000 แห่ง เงินหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ปีละ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงสามารถใช้ข้อมูลบริการของ สปสช. ที่มีโครงการร่วมกับท้องถิ่น มาพัฒนาให้เกิดศูนย์การเรียนรู้จังหวัดละ 1 แห่ง โดยให้ศูนย์การเรียนรู้ ดังกล่าวมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาการเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ โรคไม่ติดต่อ น.ส.สุธาทิพย์ จันทรักษ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กสธ. กล่าวว่า การทำงานร่วมกันนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ทุกหน่วยงานที่ร่วมกันต้องสานจุดแข็งและลบจุดอ่อน โดยจุดแข็งสธ.คือมีกลไกในระดับจังหวัดที่ชัดเจน โดยเฉพาะ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวน 1 ล้านคนเศษทั่วประเทศ เปรียบเสมือนกองทัพที่จะช่วยสนับสนุน สามารถนำกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ทั้งยังมี อสม.นักจัดการสุขภาพ กว่า 5 หมื่นคน จะเห็นว่าสธ.มีศักยภาพนำนโยบายสู่การปฏิบัติ แต่ยังขาดเครื่องมือ เช่นแนวทางการสร้างเครือข่ายแบบสมัชชาสุขภาพ ในแบบที่ สช.ดำเนินการอยู่ "สธ.ต้องการศักยภาพของทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยมุ่งผลลัพท์แบบยั่งยืนไม่ใช่แบบไฟไหม้ฟาง และแม้ขบวนรถนี้จะยังไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่ต้องค่อยๆร่วมกันพัฒนาเพื่อให้ถึงเป้าหมายในอนาคต" น.ส.สุธาทิพย์กล่าว

แท็ก ตำบล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ