การให้บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะจะต้อง “มีความต่อเนื่องของการให้บริการ”

ข่าวเทคโนโลยี Thursday July 4, 2013 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สำนักงาน กสทช. กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เหลืออยู่หลังสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุด โดยอาศัยฐานอำนาจในการออกประกาศตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ อีกทั้งยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ โดยการประกอบกิจการโทรคมนาคมถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง ซึ่ง กสทช. ในฐานะองค์กรที่ได้รับมอบหมายภารกิจจากรัฐในการกำกับดูแลให้การประกอบกิจการให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยแนวคิดที่สำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะประการหนึ่ง คือ การจัดทำบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลง ทั้งนี้ เนื่องจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก หากจะต้องสะดุดหยุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากย่อมจะต้องได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบตามมา ดังนั้น ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จและเพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว จึงต้องมีหน้าที่กำหนดมาตรการคุ้มครอง ผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง การใช้อำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้แก่การอาศัยฐานอำนาจตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้ กสทช. มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และมาตรา ๒๗ (๔) (๖) และ (๑๓) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมในการอนุญาตดังกล่าวและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมในการอนุญาตดังกล่าว รวมถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด ประกอบกับข้อ ๒๔ ของเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ท้ายประกาศ กทช. เรื่องเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดหน้าที่ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจัดให้มีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาตให้ประกอบกิจการ นอกจากนี้ ตามมาตรา ๘๔ ประกอบกับมาตรา ๘๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้บัญญัติให้ในการกำหนดระยะเวลาในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือ ใช้ คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ของ กสทช. ให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่ โดยเมื่อการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สิ้นสุดลง หากมีผู้ใช้บริการคงเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดการประกอบกิจการดังกล่าวย่อมจะต้องได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบไม่สามารถใช้บริการต่อไปได้ ดังนั้น ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ตามที่มาตรา ๘๔ ประกอบกับมาตรา ๘๓ กำหนดไว้ยังไม่แล้วเสร็จ และเพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลง กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้อำนาจในส่วนของการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา ๒๗ (๔) (๖) และ (๑๓) ประกอบมาตรา ๘๔ ประกอบกับมาตรา ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลง และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสทช. จึงเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ....” เพื่อนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ