สคร.7 กำชับ ศูนย์เด็กเล็กป้องกันโรคมือเท้าปาก จ่อระบาด

ข่าวทั่วไป Monday July 15, 2013 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากนอกเหนือจากโรคไข้เลือดออก เร่งคัดกรองเด็กป่วย และเน้นการทำความสะอาดภายในโรงเรียน กำชับศูนย์เด็กเล็กให้ใส่ใจเรื่องความสะอาด เน้นสุขอนามัยด้วยหลัก 4 ร. ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะมีอากาศเย็นและชื้น ทำให้มีโรคระบาดเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ และการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียน หากไม่มีการเฝ้าระวังอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม—2 มิถุนายน 2556 พบว่า มีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 11,678 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในเด็กกลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคืออายุ 2-3 ปี ส่วนพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 พบว่า มีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 7 ราย ที่จังหวัดมุกดาหาร แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 กล่าวว่า ถึงแม้ปีนี้จะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะโรคนี้แพร่ระบาดได้ง่าย จึงกำชับให้ศูนย์เด็กเล็ก แนะนำครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ หรือผู้ปกครองให้มีมาตรการในการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ด้วยหลัก 4 ร. คือ ร.1 รักษาความสะอาดสถานที่ บ้าน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ร.2 รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย ร. 3 รู้ทันสังเกต มีไข้ มีจุด หรือผื่นแดงบริเวณมือ เท้า ปาก และ ร.4รู้ระวัง ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง รีบพบแพทย์ทันที สถานศึกษาควรจัดให้มีอ่างล้างมือและส่งเสริมให้มีการล้างมือให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ หมั่นรักษาความสะอาดของเล่นอุปกรณ์เครื่องใช้ สถานที่ และส้วมอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องด้วย ควรเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องในบางช่วงของวัน หากพบเด็กป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวอยู่ที่บ้านประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด หรือสนามเด็กเล่นหากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องพิจารณาปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า เด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยอาการมีไข้ต่ำๆอ่อนเพลีย ต่อมาอีก1-2 วัน เด็กจะไม่ยอมดื่มนม หรือรับประทานอาหารเนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มแดงใส ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ จะพบตุ่มหรือผื่น ที่บริเวณผ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ควรนอนพักผ่อนมากๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปากและรับประทานอาหารได้มากขึ้น ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูง ซึม ไม่นอมดื่มนมหรือทานอาหาร อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมองอักเสบหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
แท็ก โรคระบาด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ