นักวิจัยไทยเจ๋ง คิดค้นชุดตรวจยีนแพ้ยา 8 ชนิดสุดอันตราย

ข่าวทั่วไป Monday July 15, 2013 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ทีมนักวิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดีและกรมวิทยาศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำเร็จชุดตรวจยีนแพ้ยา 8 ชนิดที่ อย.ระบุชัด จัดอยู่ในกลุ่มก่อปัญหาแพ้ยารุนแรง หัวหน้าทีมวิจัยเผยผลดีเพียบทั้ง ลดเสี่ยงแพ้ยา รักษาชีวิตประชากร และประสิทธิภาพสูงสุดของการเลือกใช้ยาให้ตรงตามพันธุกรรม เตรียมโชว์ผลงาน ในงาน ASEAN Life Sciences Conference & Exhibition 2013 พร้อมขนทีมเภสัชของโครงการฯจากรามา ให้คำปรึกษาฟรี ที่ศูนย์สิริกิติ์ 17-19 กรกฏาคม ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์การรักษาโรคเฉพาะบุคคล ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งว่า ทีมวิจัยจากโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ฯ ได้ทาการศึกษาวิจัยและพัฒนาการตรวจยีนแพ้ยา 8 ชนิด ซึ่งเป็นยาแปดในสิบอันดับแรกจากการจัดลำดับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ก่อให้เกิดปัญหาการแพ้ยาที่รุนแรงในกลุ่มประชากรไทย ประกอบไปด้วย กลุ่มยากันชัก (Carbamazepine, Phenobarbital, และ Phenytoin), ยารักษาโรคเกาต์ (allopurinol), กลุ่มยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (Nevirapine, Efavirenz, Abacavir และ Starvudine ) โดยทีมวิจัยสามารถนำมาพัฒนาเป็นชุดตรวจยีนแพ้ยาดังกล่าวได้เป็นครั้งแรกของโลก และจะนำเสนอในงาน “ASEAN Life Sciences Conference and Exhibition 2013” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม และ จะมีการมอบสิทธิพิเศษโปรแกรมการตรวจยีนแพ้ยาฟรีจำนวน 20 ท่าน โดยจะคัดเลือกจากผู้เข้าเยี่ยมชมบูทของโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ และผู้ที่เข้าฟังการบรรยายในเวทีกลาง หัวข้อ “การตรวจดีเอ็นเอก่อนการรักษาทุกโรค” ในวันที่ 17 กรกฎาคม เวลา 13.00 — 13.30 น. และในห้องประชุมวิชาการในหัวข้อ Thailand Pharmacogenomics and Personalized Medicine: Present and Future ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ระหว่างเวลา 9:00-12:00 น. นอกจากนี้ ในบูธของโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ในโซนการจัดนิทรรศการนั้น จะนำเสนอความก้าวหน้าของชุดตรวจยีนเหล่านี้ จากน้ำลาย และเลือด โดยใช้เครื่องตรวจยีนด้วยเทคนิคทางพันธุกรรมระดับโมเลกุล ณ จุดดูแลผู้ป่วย หรือใกล้บริเวณที่มีการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์แปลผล ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ญี่ปุ่น แคนนาดา และลักเซมเบิร์ก นอกจากนี้ในบูธ จะมีการให้คำปรึกษาด้านเภสัชพันธุศาสตร์หรือการรักษาโรคเฉพาะบุคคล โดยผู้เชี่ยวชาญ จากห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ รพ รามาธิบดี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หัวหน้าโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ กล่าว ศ.ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการเภสัชพันธุศาสตร์นั้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ TCELS ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยช่วงแรกของการดำเนินโครงการ จะมุ่งเน้นศึกษาด้านเภสัชพันธุศาสตร์หรือการรักษาโรคเฉพาะบุคคล โดยได้ค้นพบตำแหน่งบนจีโนมมนุษย์หลายตำแหน่งที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการเลือกใช้หรือปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยาให้เหมาะสมกับพันธุกรรมของแต่ละบุคคลเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดของการใช้ยา สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยาจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในรายที่มีพันธุกรรมที่แพ้ยาในกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2556 — 2560 โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ จะเน้นไปที่การค้นหาตำแหน่งบนจีโนมที่สามารถใช้ทำนายความเสี่ยงหรือช่วยในการรักษาบุคคลที่ได้รับยีนกลายพันธุ์ ผู้สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายสามารถลงทะเบียนเพื่อสำรองที่นั่ง ได้ฟรีที่ www.asean-lifesciences.org สายด่วน 1313 หรือ 02-6445499 ติดต่อ: www.tcels.or.th, 02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ