ศศินทร์เร่งพัฒนาผู้บริหารระดับสูงรับกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกและอาเซียน ย้ำทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาคมต้องร่วมกันกำหนดทิศทางประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 16, 2013 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ศศินทร์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือจัดอบรมเพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงอาเซียน (ASEAN Executive Management Programme) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและภูมิภาคอาเซียน มุ่งเสริมความรู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและอาเซียน มั่นใจเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานและระบบคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้าน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยความร่วมมือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันบัณฑิต บริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) ได้จัดโครงการพัฒนาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียน (ASEAN Executive Management Programme) ขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้มีโอกาสหารือประเด็นเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของประเทศร่วมกันผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อเกี่ยวกับแรงขับเคลื่อนและแนวโน้มทิศทางโลก รวมทั้งเรื่องภูมิทัศน์ของภูมิภาคอาเซียน วาระของชาติ และทักษะการสร้างความร่วมมือและการรวมกลุ่ม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้ศึกษาและดูงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การอบรมดังกล่าว ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนคติและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในระดับอาเซียนและนักคิดชั้นนำของโลก ที่นำเสนอทิศทางและโอกาสความท้าทาย รวมทั้งกระบวนทัศน์การบริหารแนวใหม่ เพื่อตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างจริงจังของอาเซียนในอนาคต นอกจากนี้การจัดงานดังกล่าว ยังมุ่งเสริมสร้างความรู้ มุมมอง และทัศนคติใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียน จึงต้องให้ความสำคัญกับการวางแผน เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันบนผลประโยชน์ของประเทศและอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหารระดับสูงของอาเซียนให้เกิดการบูรณาการ เพื่อต่อยอดความร่วมมือในสาขาต่างๆ ต่อไป ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD กล่าวว่า การรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องเฉพาะเรื่องการค้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องภาพรวมทั้งหมดของภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การขนส่ง สาธารณูปโภค ฯลฯ และเชื่อว่าพลังของอาเซียนก่อให้เกิดตลาดที่ยิ่งใหญ่ ไม่เฉพาะจำนวนประชากร 600 ล้านคน แต่จะเป็นตลาดที่กว้างเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และในอนาคตอาเซียนจะมีบทบาทเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันยุโรปยังไม่สามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองได้ เมื่อยุโรปรวมตัวใช้สกุลเงินเดียวกัน แต่ความเจริญเศรษฐกิจแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ทำให้มีความแตกต่างในค่าครองชีพ เห็นได้จากบางประเทศยังประสบปัญหาต่างๆ เช่น อัตราการว่างงานในยุโรปสูงถึงร้อยละ 12 % และประชากรที่อายุไม่ถึง 25 ปี ว่างงานถึงร้อยละ 27 % ถ้ายุโรปยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ เชื่อว่าการว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำโลกตกต่ำมาก ในทางตรงกันข้ามอาเซียนกำลังจะก้าวไปข้างหน้า เพราะเรายังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญเศรษฐกิจยังไปได้ดีและอัตราการว่างงานน้อย มั่นใจว่าในอนาคตประเทศในแถบเอเชียจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต้องไปพร้อม ๆกัน ใครไปช้าต้องช่วย ๆ กัน ถึงจะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ มิเช่นนั้นอาจจะไปไม่รอด นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะการใช้พลังงานในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้พลังงานและการเก็บพลังงาน รวมถึงหาแหล่งพลังงานสำรอง เนื่องจากปัจจุบันไทยซื้อพลังงานจากประเทศลาวจำนวนมาก ในขณะที่จีนเป็นประเทศที่ขายพลังงานสำคัญของเอเชีย และจีนต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศต่างๆ ปัจจุบันจีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากนี้ประเทศเวียดนามกำลังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สำหรับประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้นั้นค่อนข้างยาก เพราะเราไม่มีแหล่งน้ำที่มั่นคง และส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการที่จะพัฒนาระบบการขนส่งคมนาคมเชื่อมต่อในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีโครงข่ายเชื่อมถึงกันทั้งในและนอกประเทศ ในอนาคตระบบการคมนาคมจะเข้าถึงต่างจังหวัดมากขึ้น ทั้งถนน รถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้ง รวมทั้งระบบการขนส่งทางอากาศ ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจในต่างจังหวัดมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องเกี่ยวโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น ระบบบการคมนาคมขนส่ง จึงมีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศและการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ