ความมั่นคงของ บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Wednesday July 24, 2013 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สหประกันชีวิตสหประกันชีวิต” ถือกำเนิดขึ้นโดยผู้นำของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท คือ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุน ของ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท จากการระดมหุ้นของสหกรณ์ 2,254 สหกรณ์ และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เป็น “บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เพื่อต้องการให้เป็นสถาบันการเงินหลักของขบวนการสหกรณ์ ทั้งให้ความคุ้มครองภัย เสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต มีหลักประกันที่มั่นคง ตลอดจนส่งเสริมการประหยัด การเก็บออมทรัพย์แก่สมาชิกสหกรณ์และบุคคลในครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไป มุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นภายใต้แนวคิด “สหประกันชีวิต ภูมิคุ้มกันสหกรณ์ไทย” และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ได้พิจารณาเห็นชอบให้บริษัทขยายหุ้นเพิ่มทุนเป็น 2,000 ล้านบาท รวมทั้งยังได้แก้ไขข้อบังคับให้เปิดกว้างเพื่อขยายโอกาสให้สมาชิกของสหกรณ์มาถือหุ้นเป็นเจ้าของบริษัทได้ ปัจจุบัน มีสหกรณ์ผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันตามกำลังความสามารถและความสมัครใจของแต่ละสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ที่ถือหุ้น 10 ลำดับต้นๆ ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด สหกรณ์เครดิตยูเนียนพัฒนาชุมชนบ้านพุตะแบก จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครสวรรค์ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรยางชุมน้อย จำกัด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด อาจทำให้สมาชิกและสหกรณ์ตื่นตระหนกไปนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบกับฐานะ ความมั่นคงของบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด เพราะเป็นคนละนิติบุคคล ส่วนการถือหุ้นของสหกรณ์ได้ดำเนินการในฐานะนิติบุคคล และได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว และหากสหกรณ์จะมาขอถอนหุ้นก็ไม่สามารถกระทำได้ แต่ต้องหาสหกรณ์อื่นหรือบุคคลอื่นมาซื้อหุ้นจำนวนนั้นแทน ทำให้สหประกันชีวีตยังมีหุ้นจำนวนเท่าเดิมไม่มากระทบกับหุ้นสามัญของบริษัทแต่ประการใด สำหรับบุคคลที่เข้ามานั่งบริหารไม่ว่าจะเป็นประธานหรือกรรมการ ก็เป็นผู้แทนสหกรณ์ผู้ถือหุ้นที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยตำแหน่งจากต้นสังกัด และได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่บริษัทเข้ามาบริหาร โดยมีการผลัดเปลี่ยนไปตามวาระของสหกรณ์ต้นสังกัดและวาระของบริษัทควบคู่กันไป ขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยมีจำนวน 7,000 กว่าแห่งและถือหุ้นกับบริษัทสองพันกว่าแห่ง หากปัญหาเกิดขึ้นในแต่ละสหกรณ์ ก็จะเป็นปัญหาของสหกรณ์เฉพาะที่เท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับ บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อย่างแน่นอน เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่นคงให้บุคคลอื่น ดังนั้นบริษัทจะต้องมีความมั่นคงเสียก่อน เช่นเดียวกับบริษัท สหประกันชีวิต ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และอีกหลายฉบับ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัดอีกหลายองค์กร โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บริษัท ต้องขอขอบคุณสหกรณ์ ผู้ถือหุ้นและสมาชิกสหกรณ์ต่างๆ รวมถึงบุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้องที่ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ และในทางกลับกันสหกรณ์และสมาชิกได้หันมาใช้บริการในกิจการที่ท่านเป็นเจ้าของมากยิ่งขึ้น จนทำให้ผลประกอบการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง จึงอยากให้ท่านเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าเราจะรักษาสมบัติของขบวนการสหกรณ์ให้ยืนยงอยู่คู่กับขบวนการสหกรณ์เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกและสหกรณ์ บุคคลเข้ามาแล้วจากไป แต่ “สหประกันชีวิต” จะต้องเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป เพื่อให้ “สหประกันชีวิต ธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อปวงชน” อย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ