ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ชุมชนปลอดไข้เลือดออก

ข่าวทั่วไป Wednesday August 7, 2013 17:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 4 ส.ค. 56 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 93,034 ราย เสียชีวิต 86 ราย ในขณะที่ จ.ราชบุรี มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม ณ วันที่ 5 ส.ค. 56 จำนวน 533 รายและยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะที่ ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ที่พบว่าไม่มีทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแม้แต่รายเดียว ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานโรคไข้เลือดออกที่จังหวัดราชบุรีว่า ราชบุรีเป็น 1 ใน 8 จังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จ.ราชบุรี หรือ สคร.4 โดยอีก 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และจากรายงานผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของพื้นที่พบว่าทั้งเขตบริการมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย เสียชีวิตแค่ 2 ราย และยังพบอีกว่าราชบุรีเป็นจังหวัดเดียวในเขตที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการลงพื้นที่ ต.น้ำพุ จ.ราชบุรีของทีมงานกระทรวงสาธารณสุข นำโดยกรมควบคุมโรค สาธารณสุขจังหวัด และอบต.น้ำพุ เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลัง และติดตามการดำเนินงานโรคไข้เลือดออก ของ ต.น้ำพุ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพื้นที่ ต.น้ำพุไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก และทำไม จ.ราชบุรี ไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต “พบว่าที่ผ่านมาทุกหน่วยงานในพื้นที่ทำงานค่อนข้างหนักในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกเพื่อไม่ให้มีการระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลน้ำพุซึ่งเป็นตำบลตัวอย่าง ที่ได้มีการใช้นวัตกรรม “ปลาต่อปลา” มาเป็นเครื่องมือกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยนำมาใช้ร่วมกับมาตรการ 5ป. 1ข. ร่วมกับการมี อสม.ที่เคยผ่านการอบรมลูกเสือมาก่อน ทำให้ อสม.มีความรู้และสามารถนำวิธีการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ เพื่อดึงชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจนประสบความสำเร็จในการเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ปลอดลูกน้ำยุงลายในปัจจุบัน และที่สำคัญซึ่งจะขาดไม่ได้คือการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย ด้านนายเกียรติขจร ไพศาลนันท์ สาธารณสุขอำเภอเมือง จ.ราชบุรี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม “ปลาต่อปลา” หรือการใช้ปลากินลูกน้ำ ลดใช้สารเคมี ว่าได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากเห็นว่าโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพของคนในชุมชน จึงได้มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งธนาคารปลาหางนกยูง เพื่อเพาะขยายพันธุ์ปลาหางนกยูงแจกจ่ายชาวบ้านสำหรับไว้ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านรวม 51 คน จำนวน 6 หมู่บ้าน ตั้งธนาคารปลากินลูกน้ำลดใช้สารเคมีขึ้น ซึ่งข้อดีของปลากินลูกน้ำคือหาง่าย ประหยัดงบประมาณ ไม่มีสารเคมีตกค้าง อายุการใช้งานนาน กำจัดได้ทั้งลูกน้ำและตัวโม่ง “ปัจจุบันได้มีการต่อยอดนวัตกรรม “ปลาต่อปลา” หรือการใช้ปลากินลูกน้ำ ลดใช้สารเคมี ของชุมชน ต.น้ำพุ ไปยังหมู่บ้านเขากระจิบและหมู่บ้านอื่นๆ โดยจัดทำโครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ปี 2556 ขึ้นโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. ผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ เพื่อใช้นวัตกรรม “ปลาต่อปลา” ในการลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก พร้อมส่งเสริมให้ทุกหลังคาเรือนในหมู่ที่ 3 บ้านเขากระจิบ จำนวน 148 หลังคาเรือนเลี้ยงปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ฯลฯ สนับสนุนการเลี้ยงปลากินลูกน้ำลดการใช้สารเคมี และมีการขยายผลจาก 1 บ้านเป็น 1 หมู่บ้าน 1 ตำบล 1 อำเภอ และ ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ