โรคปอดอักเสบ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 7, 2013 18:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง โรคปอดอักเสบ หรือเรียกว่าโรคปอดบวม เป็นโรคติดต่อชนิดเฉียบพลันที่มีการอักเสบของเนื้อปอด หลอดลมขนาดเล็ก หลอดลมฝอยถุงลม สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด 1. จากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในปาก จมูก และคอ 2. โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคสุกใส และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น การติดต่อ สามารถติดต่อได้ 4 ทาง 1. หายใจเอาเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศ 2. สำลักเอาเชื้อโรคที่อยู่บริเวณช่องปากเข้าสู่ปอด 3. แพร่กระจายจากตำแหน่งที่เป็นโรคตามส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านมาตามกระแสโลหิตเข้าสู่ถุงลม 4. เชื้อโรคจากการอักเสบที่บริเวณใกล้ๆ ปอด เช่น ตับ หลอดอาหาร แล้วกระจายลุกลามเข้าสู่ปอดโดยตรง โรคปอดอักเสบสามารถติดต่อได้ตลอดจนกระทั่งเชื้อโรค หมดไปจากน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย อาการปอดอักเสบเป็นอย่างไร อาการของโรคอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ เช่น ถ้าติดเชื้อบริเวณหลอดลม อาจแสดงอาการไอมากกว่าอาการอื่นๆ ในกรณีการติดเชื้อในเนื้อปอด จะส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจน มีปัญหา แล้วทำให้เห็นปากเขียว มือเขียว ม่วงคล้ำเพราะขาดออกซิเจน เริ่มแรกอาการคล้ายเป็นโรคหวัด เช่น มีอาการไอ จาม เจ็บคอ หลังจากนั้นอาจมีไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย เจ็บชายโครงตามมาได้ ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพของผู้ป่วยและชนิดของโรค ในบางรายอาการของผู้ป่วยอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มผู้สูงอายุ อาการอาจแสดงไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากไม่ทำการรักษาในทันท่วงที หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การรักษา การรักษาโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย - ใช้ยาฆ่าเชื้อซึ่งชนิดของยาขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การรักษาโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส - การใช้ยาฆ่าเชื้อไม่สามารถรักษาได้ แพทย์อาจรักษาตามอาการในบางกรณีแพทย์ให้รับประทานยาต้านไวรัส หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเชื้อ ประเภท และ สายพันธุ์ ของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการป่วย ผู้ป่วยส่วนมากที่ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบอาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ คุณควรต้องดูแลอาการที่โรงพยาบาลหรือเฝ้าระวังเป็นพิเศษ - อายุมากกว่า 65 ปี - มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด เบาหวาน ไตวาย มีปัญหาเกี่ยวกับโรคตับ - ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือไม่สามารถบอกใครได้ หากมีอาการแย่ลง - มีอาการเจ็บหน้าอก หรือไม่สามารถไอ เพื่อขับเสมหะออกมาได้ เหนื่อยหอบ - ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ เหนื่อยหอบ การควบคุมและการป้องกันโรค 1. การป้องกันก่อนการเกิดโรค โดยการรับวัคซีน Pneumococcal vaccine และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 2.ควรงดสูบบุหรี่ การควบคุมและป้องกันเมื่อเกิดโรค 1.พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง 2.ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยการใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการไอ จาม 3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย 4.กรณีผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี และป่วยเป็นโรคปอดอักเสบนอนโรงพยาบาล เมื่อหายแล้ว ควรได้รับวัคซีนก่อนกลับบ้าน หรือวันนัดตรวจซ้ำ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999 www.ram-hosp.co.th www.facebook.com/ramhospital

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ