รพ.สังกัดกองทัพเรือเผยขาดทุนโครงการ 30 บาท เสนอรัฐแก้ปัญหางบประมาณ บุคลากรไม่พอ

ข่าวทั่วไป Friday July 15, 2005 11:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--สป.
สภาที่ปรึกษาฯ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากกองทัพเรือ โดยเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนและบุคลากรของกองทัพเรือจากระบบสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการภายใต้การบริหารจัดการของกองทัพเรือ โดยประสบกับปัญหาด้านงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ ไม่เพียงพอต่อการเข้ารับบริการของบุคลากรในกองทัพเรือและประชาชนทั่วไป
คณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดสัมมนาโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง
“การจัดการระบบสุขภาพชุมชนในปริมณฑลที่กองทัพเรือรับผิดชอบ และปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค” โดยเชิญผู้แทนจากกองทัพเรือ ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.ทหารเรือกรุงเทพ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ ห้องประชุม 1/1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 27 กรุงเทพฯ
โดย ดร.สมชัย ว่องอรุณ ประธานคณะทำงานสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำว่าคณะทำงานฯ ได้ติดตามปัญหาของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลที่ยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร งบประมาณ และการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ พบว่าประสบปัญหาเช่นกัน ดังนั้น คณะทำงานสาธารณสุขฯ จึงเชิญผู้แทนจากโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพเรือมารับฟังความคิดเห็นถึงปัญหาดังกล่าว
เริ่มจาก ผู้แทนจากโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกองทัพเรือ ได้กล่าวถึงปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินงานโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าทาง รพ.ยังไม่ได้รับการตอบรับในสถานภาพขอโรงพยาบาลในระบบโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้การดำเนินงานขาดความสมบูรณ์ในด้านนิติกรรม จาก สปสช. ขณะที่ด้านการเงินพบว่า โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินจาก สปสช. ทำให้เกิดภาวะขาดดุลอย่างมาก ซึ่งควรพิจารณาระบบการจ่ายเงินใหม่ที่เหมาะสมมากกว่านี้ จะได้ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาล ส่วนด้านการประสานงาน ทางโรงพยาบาล ติดต่อสื่อสารกับ เจ้าหน้าที่ สปสช.ยาก เนื่องจากสายโทรศัพท์ไม่ค่อยว่าง และการตรวจสอบสิทธิโดยใช้ www.nhso.go.th ระบบยังไม่คงที่ เสียบ่อย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์ของผู้ป่ายในภาวะปัจจุบันได้ และ ในด้านอื่นๆ ผู้ป่วยมักไม่เข้ารักษาพยาบาลตามสิทธิเนื่องจากไม่พอใจในการบริการของ รพ.ตามบัตร แต่จะมาขอใช้สิทธิ 30 บาท ที่ รพ. ซึ่งไม่สามารถใช้ได้ ต้องชำระเงินค่ารักษาเอง และการประชาสัมพันธ์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐ ไม่ครอบคลุมประชาชน
ทั้งหมด เนื่องจากผู้ใช้บริการจำนวนมากไม่ทราบสิทธิของตนเอง
ทางด้านผู้แทนจากโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งแรกเมื่อ ต.ค.44 และเป็นโรงพยาบาลนำร่อง 1 ใน 3 แห่งแรกของ กทม. โดยทำหน้าที่เป็น รพ.แม่ข่ายดูแลประชากรประเภท UC (UC = โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัย) ในเขตธนบุรี หนองแขม บางแค ฯลฯ โดยผลกระทบที่เกิดกับ รพ. คือ ภาระงานในด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และ การจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้ป่วยใน ยังไม่เหมาะสม แต่เนื่องจาก รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยทหารและครอบครัว ทำให้ครอบครัวทหารเกิดความรู้สึกว่าได้รับการดูแลน้อยลง และผู้ป่วยประเภท UC มีคาดหวังสูง จากการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล
เมื่อไม่พอใจก็ร้องเรียนโรงพยาบาล ทั้งนี้ รพ. เสนอแนวทางแก้ไข คือ การแบ่งเบาภาระงาน UC ให้กับโรงพยาบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง โดย รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า จะทำหน้าที่รับส่งต่อในรายที่จำเป็น แต่ควรมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงด้านผู้แทนจากทหารกองประจำการ สังกัดกองทัพเรือ กล่าวว่าการขึ้นทะเบียนของทหารในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ติดขัดในเรื่องประกันสังคมและสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และมีการขึ้นทะเบียนโดยพลการจากจังหวัดอื่น และการปลดประจำการของพลทหาร แต่ยังคงค้างสิทธิ์กรมแพทย์ทหารเรือ ด้านรายรับจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น กองทัพเรือขอให้ทบทวนงบเหมาจ่ายของทหารกองประจำการ รวมทั้งทบทวนอัตราเหมาจ่ายรายหัวงบประมาณ 2548 สำหรับทหารกองประจำการ และใช้อัตราการใช้บริการของทหารมาคำนวณ ต้องมีการปรับอัตราเหมาจ่ายรายหัว ส่วนทางการจัดสรรงบประมาณ เสนอให้จัดสรรงบประมาณตามจำนวนกำลังพลของกองทัพเรือและครอบครัวในพื้นที่ และอยู่ที่จังหวัด และการใช้งบประมาณ VERTICAL PROJECT ภายหลังการประชุมคณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะ ที่เกี่ยวกับ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในสังกัดกองทัพเรือ เพื่อสรุปเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะและความเห็นเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ ต่อไป
สื่อมวลชนหรือผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักประชาสัมพันธ์
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)
โทรศัพท์ 0-2612-9222 ต่อ 118 โทรสาร 0-2612-6919--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ