กฟก.เดินหน้าเร่งจัดการหนี้สินหวังสร้างชีวิตใหม่ให้เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Thursday August 15, 2013 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เดินหน้าเร่งจัดการหนี้สินเกษตรกรใน 5 กลุ่มหลักเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด เผยนับตั้งแต่ปี 49 ถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้วว่า 2.3 หมื่นรายขณะที่เกษตรกรในโครงการเผยเหมือนชีวิตได้เกิดใหม่หลัง กฟก. เข้ามาช่วยอุ้มจนได้ที่ดินทำกินกลับคืนมาอีกครั้ง นายสุภาพ คชนูด ประธานกรรมการจัดการหนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูฯ มีภารกิจหลักใน 2 เรื่องคือ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพและการจัดการหนี้สินเพื่อที่จะช่วยรักษาที่ดินซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการเกษตรของเกษตรกรเอาไว้ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมการจัดการหนี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการหนี้เป็นหลัก นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กฟก.สามารถจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรได้จำนวน 23,860 รายจากสถาบันเจ้าหนี้ทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ 1. สหกรณ์การเกษตร 2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) 3. กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 4.นิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด เช่น บริษัท/โรงงานน้ำตาลบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ “เราได้ดำเนินการเร่งรัดจัดการหนี้ออกเป็น 5 ลำดับเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด คือ 1.ทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาดและมีบุคคลที่ 3 ซื้อไปหรือสถาบันเจ้าหนี้ซื้อไป เรียกว่าหนี้ NPA 2.หนี้ที่ถูกบังคับคดี 3.หนี้ที่กำลังดำเนินคดีฟ้องคาศาล 4. หนี้ที่ผิดนัด หรือ หนี้ NPL และ 5.หนี้ปกติเมื่อ กฟก. ชำระหนี้แทนเกษตรกรรายใดแล้วทรัพย์จะถูกโอนมาเป็นของ กฟก. เกษตรกรจะได้รับทรัพย์ไปด้วยการเช่าหรือเช่าซื้อ ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่า เมื่อทรัพย์ถูกโอนมาเป็นของ กฟก. แล้ว เกษตรกรจะไม่ถูกยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาดอย่างแน่นอนแต่เกษตรกรจะมีรายได้จากการประกอบอาชีพในที่ดินนั้น" ประธานกรรมการจัดการหนี้เผยต่อว่าส่วนการกำหนดวงเงินในการจัดการหนี้นั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.หนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท 2.หนี้เกิน 1 ล้านแต่ไม่เกิน2.5ล้าน และ 3.หนี้ตั้งแต่ 2.5 ล้านขึ้นไป โดย กฟก. สามารถจัดการหนี้ได้ทั้งแบบหลักทรัพย์ค้ำประกัน และบุคคลค้ำประกันโดยจะตัดดอกเบี้ยทั้งหมดออกไปส่วนเงินต้นคงค้างเหลือครึ่งหนึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งภายหลังการจัดการหนี้แล้วจะมีการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพแต่ก็มีเกษตรกรบางส่วนสามารถลุกขึ้นเดินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแต่อย่างใด “กองทุนฟื้นฟูฯ ก็เหมือนโรงพยาบาลแต่เป็นโรงพยาบาลทางด้านเศรษฐกิจเวลาที่เกษตรกรประกอบอาชีพทางการ เกษตรขาดทุนก็เหมือนกับการเจ็บป่วย กฟก. ก็มีหน้าที่เยียวยาให้เกษตรกรหายจากอาการเจ็บป่วยดังกล่าว"นายสุภาพกล่าวและย้ำว่าปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังส่งผลกระทบทางสังคมอีกด้วย แต่เมื่อเกษตรกรได้รับการจัดการหนี้จนสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลว่าทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่จะถูกยึดหรือขายทอดตลาดก็จะทำให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นและที่สำคัญครอบครัวก็จะเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น ขณะที่นายทรงฤทธิ์ จอมแปง เกษตรกร จากภาคเหนือสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำไร่ขัวมุง ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวหลังจากได้รับการช่วยเหลือจัดการหนี้โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่าเดิมตนเป็นหนี้สหกรณ์การเกษตรสารภีจำนวน 1 แสนกว่าบาท และเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพเกือบ 5 แสนบาท แต่หลังจากที่กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาช่วยเหลือจัดการหนี้ให้เหมือนมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมมาก "ตอนนี้มีอาชีพปลูกผักชีฝรั่ง ผักคื่นช่ายขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จนสามารถซื้อที่ดินของตัวเองกลับคืนมาจำนวน 2 ไร่ และยังได้ซื้อเพิ่มอีก 6 ไร่ นอกจากนี้ยังมีทุนเช่าที่ดินปลูกเพิ่มอีก 20 ไร่ ทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิตเฉลี่ย 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน" นายทรงฤทธิ์กล่าวอย่างภูมิใจ

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ