เปิดการประชุมเสวนาทางวิชาการ ขิง - ข่า เพื่อชีวิต เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ

ข่าวทั่วไป Friday August 16, 2013 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--องค์การสวนพฤกษศาสตร์ วันที่ 9 สิงหาคม 2556 นางสาวสิริวรรณ สุวรรณศร กรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาทางวิชาการ ขิง - ข่า เพื่อชีวิต เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมงานจำนวน 250 คน ณ ห้องประชุมโรงแรมโบทานิครีสอร์ท อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีของนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ วิชาชีพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชวงศ์ขิง-ข่าและกลุ่มใกล้เคียงตลอดจนเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิจัย อนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากพืชวงศ์ ขิง — ข่า พื้นเมือง รวมถึงพืชวงศ์ใกล้เคียงอย่างยั่งยืน นอกจากนี้แล้ว การจัดประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ความร่วมมือบนเวทีโลก เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทย โดย องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “ขิง-ข่า เพื่อชีวิต” หรือZINGIBERACEAE for Life และมหกรรม “ขิง-ข่า โลก ครั้งที่ 1” ในปี พ.ศ. 2558 อีกด้วย โดยในงานประชุมเสวนามีการนำเสนอแนวคิด การจัดงานมหกรรมขิง-ข่าโลก ครั้งที่ 1 (เฉลิมพระเกียรติฯ) ที่จะจัดขึ้นในปี พ.ศ.2558 มีการบรรยายทางวิชาการ ในหัวข้อ ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากพืชวงศ์ขิง-ข่า เพื่อชีวิต เกษตรกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรมและแนวโน้มการพัฒนาและการใช้ประโยชน์พืชวงศ์ขิง-ข่าในด้านต่างๆ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาภาคธุรกิจ โดยนักวิจัยและผู้ประกอบการธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับ สปา อาหารและสมุนไพร โดยผลที่ได้รับจากงานครั้งนี้คือ องค์ความรู้ของพืชวงศ์ขิง-ข่า ในด้านต่างๆ ได้รับการเผยแพร่ถ่ายทอดสู่สาธารณชน อันก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย อนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย ติดต่อ: 0-5384-1234

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ