ไซแมนเทค เผยผลสำรวจโมบิลิตี้ ระบุองค์กรที่ปรับใช้เทคโนโลยีก่อนจะได้รับประโยชน์มากกว่า

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 16, 2013 12:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--โอเอซิส มีเดีย องค์กรผู้บุกเบิกก่อนมองเห็นการเติบโตของรายได้และกำไร, ความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ส่งผลดีต่อแบรนด์ และเพิ่มความพึงพอใจแก่ลูกค้า ไซแมนเทค (Nasdaq: SYMC) เปิดเผยผลสำรวจสถานะของโมบิลิตี้ (State of Mobility Survey) ประจำปี 2556 ซึ่งแบ่งองค์กรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มผู้บุกเบิก” (Innovators) ซึ่งหมายถึงองค์กรที่พร้อมปรับใช้ระบบโมบิลิตี้ (Mobility) และ “กลุ่มผู้อนุรักษ์นิยม” (Traditionals) ซึ่งลังเลที่จะปรับใช้ระบบโมบิลิตี้ ทั้งนี้ 86 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรทั่วโลกที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้บุกเบิก กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อปรับใช้ระบบโมบิลิตี้ โดยได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยขับเคลื่อนทางด้านธุรกิจ และปัจจุบัน ได้รับประโยชน์มากมายอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนองค์กรในกลุ่มผู้อนุรักษ์นิยมมีการปรับใช้ระบบโมบิลิตี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมากแล้วเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ โดยมีค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับน้อยกว่า จากการสำรวจในส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่าองค์กรของไทยมีทั้งสองกลุ่มในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มแรกให้ความสำคัญกับเรื่องของปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ (85 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่อีกกลุ่มมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ (84 เปอร์เซ็นต์) คลิกเพื่อทวีต: ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจกระตุ้นให้บริษัทปรับใช้ระบบโมบิลิตี้: http://bit.ly/159KR1F นายประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของไซแมนเทค กล่าวว่า "ปัจจุบัน ฝ่ายไอทีหันมาสนใจเรื่องโมบิลิตี้กันอย่างมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยนั้น องค์กรต่างๆ เริ่มมองว่าโมบิลิตี้คือเครื่องมือที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งนับว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างองค์กรที่ปรับใช้โมบิลิตี้อย่างจริงจังกับองค์กรที่ลังเลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะพบข้อแตกต่างในเรื่องทัศนคติและผลลัพธ์อย่างชัดเจน กล่าวคือ องค์กรที่ดำเนินการเชิงรุกจะได้รับประโยชน์มากมายหลายประการ ขณะที่องค์กรที่มีความลังเล จะไม่สามารถก้าวตามคู่แข่งได้ทัน" องค์กรทั้งสองกลุ่มมีทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องคุณประโยชน์และความเสี่ยงของโมบิลิตี้ โดย 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้บุกเบิกทั่วโลก มองว่าประโยชน์ที่ได้รับมีค่ามากกว่าความเสี่ยง ขณะที่ 34 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้อนุรักษ์นิยมคิดว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยง สำหรับองค์กรของไทย 58 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าประโยชน์ที่ได้รับมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยง ซึ่งสะท้อนให้เห็นในอัตราการปรับใช้ระบบโมบิลิตี้ โดยองค์กรกลุ่มผู้บุกเบิกมีพนักงานที่ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจมากกว่าองค์กรกลุ่มผู้อนุรักษ์นิยมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในระดับโลกนั้น กว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรกลุ่มผู้บุกเบิก (54 เปอร์เซ็นต์) ควบคุมการซื้อโทรศัพท์ของพนักงาน เปรียบเทียบกับ 47 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรกลุ่มผู้อนุรักษ์นิยม ส่วนในประเทศไทยนั้น 49 เปอร์เซ็นต์ของโทรศัพท์ที่พนักงานใช้ในองค์กรกลุ่มผู้บุกเบิกเป็นอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดยบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรกลุ่มผู้บุกเบิกมีแนวโน้มที่จะติดตั้งแอพบนอุปกรณ์พกพามากกว่า โดย 86 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรเหล่านี้มีแผนที่จะสร้างแอพสโตร์สำหรับพนักงาน เปรียบเทียบกับ 64 เปอร์เซ็นต์ในส่วนขององค์กรผู้อนุรักษ์นิยมและที่น่าสนใจก็คือ เกือบทั้งหมด (89 เปอร์เซ็นต์) ขององค์กรในไทย มีแผนที่จะสร้างแอพสโตร์ภายในองค์กร ในส่วนขององค์กรกลุ่มผู้บุกเบิก การมีส่วนร่วมของบริษัทไม่ได้อยู่ที่การจัดซื้อโทรศัพท์เท่านั้น กล่าวคือ หลายๆ องค์กรมีนโยบายเรื่องโมบิลิตี้ และมีแนวโน้มมากกว่าสองเท่าที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อบังคับใช้นโยบายขององค์กร (61 เปอร์เซ็นต์ในองค์กรกลุ่มผู้บุกเบิก เทียบกับ 43 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้อนุรักษ์นิยม) สำหรับในประเทศไทย 45 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรใช้เทคโนโลยีเพื่อบังคับใช้นโยบายเรื่องอุปกรณ์พกพา ค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับ องค์กรกลุ่มผู้บุกเบิกใช้ประโยชน์จากโมบิลิตี้มากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็คาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่จริงแล้ว องค์กรเหล่านี้รายงานว่ามีปัญหาเรื่องอุปกรณ์พกพาเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าในช่วงปีที่แล้ว เช่น อุปกรณ์สูญหาย และข้อมูลรั่วไหล ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย เช่น ต้องเสียค่าปรับตามกฎระเบียบ และสูญเสียรายได้ เป็นต้น นอกจากนี้ องค์กรกลุ่มผู้บุกเบิกก็ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่: - ประสิทธิภาพ ความเร็ว และความคล่องตัวเพิ่มขึ้น - การปรับปรุงมูลค่าแบรนด์ ความพึงพอใจของลูกค้า และความสามารถด้านการแข่งขันโดยรวม - เพิ่มความพึงพอใจให้แก่พนักงาน ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญก็คือ องค์กรกลุ่มผู้บุกเบิกมีรายได้เติบโตสูงกว่าองค์กรกลุ่มผู้อนุรักษ์นิยมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ (44 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 32 เปอร์เซ็นต์) ในกรณีนี้ องค์กรของไทยมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 48 เปอร์เซ็นต์ กล่าวโดยสรุปก็คือ องค์กรธุรกิจได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากโมบิลิตี้ การปรับใช้ระบบโมบายล์อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงผลดีที่ธุรกิจจะได้รับจากโมบิลิตี้ หากมีการเตรียมการอย่างถูกต้องเหมาะสม แนวทางต่อไปนี้จะช่วยให้องค์กรต่างๆ ใช้ประโยชน์จากระบบโมบายล์ได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยง: - การระมัดระวังเกี่ยวกับโมบิลิตี้เป็นเรื่องปกติ แต่การต่อต้านไม่ใช่ และควรเริ่มต้นปรับใช้ในทันที องค์กรต่างๆ ควรดำเนินมาตรการเชิงรุก และวางแผนอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับกลยุทธ์การปรับใช้เทคโนโลยีโมบายล์อย่างมีประสิทธิภาพ - เริ่มต้นด้วยแอพที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดสำหรับพนักงาน หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นใช้โมบิลิตี้ก็คือ การปรับใช้โมบายล์แอพที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจในทันที - เรียนรู้จากองค์กรที่เป็นผู้บุกเบิก — ใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยง กุญแจสำคัญก็คือ การตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโมบิลิตี้ เช่น ข้อมูลสูญหาย และปฏิบัติตามแนวทางขององค์กรที่เป็นผู้บุกเบิก การสำรวจสถานะของโมบิลิตี้ประจำปี 2556 ของไซแมนเทค การสำรวจสถานะของโมบิลิตี้ (State of Mobility Survey) ประจำปี 2556 ของไซแมนเทค อ้างอิงข้อมูลประสบการณ์ขององค์กรธุรกิจ 3,236 แห่งจาก 29 ประเทศ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นบุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับระบบประมวลผล เช่น เจ้าหน้าที่อาวุโสในองค์กรขนาดใหญ่ หรือพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม องค์กรที่ร่วมตอบแบบสอบถามมีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงาน 5 คน ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 5,000 คน สำหรับในประเทศไทยนั้น มีการสำรวจความคิดเห็นองค์กร 100 แห่ง

แท็ก tat  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ