สสว. จับมือหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาใหญ่ "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4)"

ข่าวทั่วไป Monday August 19, 2013 09:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. จับมือหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาใหญ่ AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4) ร่วมเปิดวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มุ่งเสริมศักยภาพความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง ด้านสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานสัมมนา AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4) ณ คริสตัล ฮอล์ล ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ว่า สสว. ได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาและจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยร่วมมือกับ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในนามคณะกรรมการ AEC Prompt จัดการประชุมและสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ รวมทั้งโอกาสและอุปสรรค เมื่อเข้าสู่ AEC นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เยี่ยมชมงานในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เวียตนาม พม่า และอินโดนีเซีย “การจัดงานสัมมนา "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 4)" ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 จะมุ่งเน้นการให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นอกเหนือจากทิศทางด้านการตลาดแล้ว ยังเสริมในเรื่องของวัฒนธรรม สังคม รสนิยม และปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้รับการกลั่นกรองจากประสบการณ์ของผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการนั้นๆ บนพื้นฐานความแตกต่างกันในเรื่องของชนชาติ ศาสนาของแต่ละประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจะต้องเรียนรู้” ทั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมการผลิตสินค้าของประเทศในอาเซียนจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ละประเทศจึงต้องหาจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย จะเน้นการผลิตสินค้าฮาลาลต่างๆ ในส่วนประเทศไทย หากแยกย่อยเป็นรายอุตสาหกรรม ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเหมาะสมสำหรับคนไทย คือธุรกิจในภาคการบริการ การท่องเที่ยวและหัตถกรรม รวมถึงการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ ที่เอสเอ็มอีไทยมีความโดดเด่น และมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ สสว. เห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ต้องเร่งแก้ไข มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งนี้ สสว. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนงบประมาณ 193ล้านบาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราร้อยละ3 ของวงเงินสินเชื่อ เป็นระยะเวลา 1 ปี วงเงินกู้ยืมไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท โดยให้บริการผ่านธนาคารและสถาบันการเงิน 7 แห่ง โดยคาดว่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 6,300 รายทั่วประเทศ 2. องค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การออกแบบดีไซน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง ในส่วนนี้ สสว. ได้เปิดโครงการ Front Service และ คลีนิก SMEs อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ บริเวณชั้น G อาคารสำนักงาน สสว. โดยจัดพื้นที่ให้บริการและสนับสนุน SMEs ทั้งด้านข้อมูลองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบกิจกรรม การฝึกอบรม การจับคู่ธุรกิจ การให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนจัดหาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปสู่ผู้ประกอบการโดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ให้การฝึกอบรม ตลอดจนคำปรึกษาในด้านต่างๆ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.sme.go.th และในอนาคต สสว. ยังมีแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการในลักษณะการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการอีกด้วย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสัมมนาใหญ่ AEC and SMEs Challenges : Next Steps (Phase 4) ในครั้งนี้ เน้นให้ความสำคัญกับความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 1. เสาทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง 2.เสาทางด้านสังคมและ 3.เสาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ อาทิ ความร่วมมือกันในการลดต้นทุนการนำเข้า และการส่งออก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในระดับพลเมืองและการทัดเทียมกันของประชาชนที่เป็นสมาชิกในแต่ละประเทศ เป็นต้น การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสามารถของประเทศภายในกลุ่มแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้กว้างขวางขึ้น การเสวนา 3 เสาหลักในครั้งนี้ ไม่เพียงมุ่งเน้นในเรื่องของผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า และผลกระทบต่อภาคธุรกิจ แต่ยังให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงและการออกกฎระเบียบระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีความสอดคล้องร่วมกัน ตลอดจนการลงลึกรายละเอียดความแตกต่างในภาคสังคมและวัฒนธรรม และศาสนา เพื่อให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เกิดความกลมเกลียวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้มแข็ง “จุดประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เห็นภาพกว้างของผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า และมีแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้ง 10 ประเทศ ให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบว่าควรเตรียมความพร้อมอย่างไรในการสร้างเศรษฐกิจความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเรามองไปศักยภาพและอำนาจในการต่อรองกับเศรษฐกิจโลกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการสรุปประเด็นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ที่เน้นผลจากการลดอุปสรรคต่าง ๆ ลง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานได้อย่างเสรี ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการภายในประเทศรองรับการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงและบรรเทาผลกระทบในเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่” นอกจากนี้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุน มีการปรับลดอุปสรรคเพื่อเข้าสู่ตลาดในแต่ละประเทศ ทั้งในด้านมาตรการภาษีและอื่นๆ ซึ่งธุรกิจของประเทศไทยจัดว่ามีข้อได้เปรียบ เนื่องจากไทยมีสินค้าหลกหลายที่มีศักยภาพและความพร้อมในการแข่งขันสูง อาทิ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจในภาคบริการ อาทิ การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพของโรงพยาบาลและคลินิกเสริมความงาม ผลิตภัณฑ์ประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องประดับ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ