สพฉ. เร่งจัดเวทีประชุมร่วมกับสถานพยาบาล สร้างความเข้าใจร่วมเกี่ยวกับเกณฑ์ในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ระบุจะต้องสร้างการบริการให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

ข่าวทั่วไป Monday August 19, 2013 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตามที่รัฐบาลประกาศนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ที่เริ่มดำเนินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ส่งผลให้ 3 กองทุนต้องมีการเตรียมการและพัฒนาระบบร่วมกัน ซึ่ง สพฉ. มีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สธ. สปสช.สปส. กรมบัญชีกลาง) ในการกำหนดนิยาม คำว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ให้อ้างอิงตามพรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 และหลักเกณฑ์การตรวจประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินและมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามจากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าผลการดำเนินงาน 6 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายน — 30 กันยายน 2555 ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาวะฉุกเฉิน และการใช้นิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินของแต่ละสถานพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลให้ประชาชนที่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล นำไปสู่การมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ดังนั้น สพฉ. จึงได้จัดทำโครงการจัดทำเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและจัดลำดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ที่ กพฉ. กำหนด สำหรับให้สถานพยาบาล หน่วยปฏิบัติการ ผู้ปฏิบัติการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นเกณฑ์กลางในการตรวจคัดแยกระดับความฉุกเฉิน และจัดให้ผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินตามลำดับความเร่งด่วนทางการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมดังกล่าว จะเป็นการอภิปรายและการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาห้องฉุกเฉินสู่ความเป็นมาตรฐานเพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้ตามนโยบายดังกล่าว โดยมีประเด็นการเสวนา อาทิ การพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลเพื่อการรับรองมาตรฐานนานาชาติ การพัฒนาพยาบาลเวชปฎิบัติฉุกเฉิน (Emergency Nurse Practitioner : ENP )เกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน และตัวอย่างสถานพยาบาลที่ได้ดำเนินการคัดแยกตามมาตรฐานนานาชาติสู่ความเป็นเลิศด้านการจัดการทางด่วนผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาล (Stroke and STEME Fast Track , trauma Center) นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดนิยาม “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ และจำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการและการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้น โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินและมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 ซึ่งจัดแบ่งออกเป็น 5 ระดับตามความเร่งด่วนในการปฏิบัติหน้าที่ดังนี้ 1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) 2. ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) 3. ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) 4. ผู้ป่วยทั่วไป (สีขาว) 5. ผู้รับบริการสาธารณสุขอื่นๆ (สีดำ) ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ซึ่งหมายถึงเป็นบุคคลซึ่งได้รับการบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการปฏิบัติการทางการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการของป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไวนั้น ให้รีบโทรสายด่วน 1669 เพื่อศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ จัดส่งทีมกู้ชีพพร้อมรถปฏิบัติการฉุกเฉิน นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลถึงสิทธิการรักษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ