ความเสี่ยงเศรษฐกิจ-ราคาน้ำมันดันราคาทองคำ เห็นแววอุปสงค์ไตรมาส 3 เพิ่มทั้งลงทุนและบริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ธามดี พลัส ศูนย์วิจัยทองคำเผย เหตุราคาทองคำเพิ่มขึ้นประมาณ 8.49% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ด้านราคาน้ำมันสูงขึ้นจากความเสี่ยงอุปทานความกังวลความรุนแรงในอียิปต์และภัยธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโก ขณะที่อุปสงค์ทองคำทั้งเพื่อการลงทุนและการบริโภคน่าจะสูงขึ้นในไตรมาส 3 ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ราคาทองคำได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาจากระดับต่ำสุด 1,272 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ มาเหนือระดับ 1,380 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.49% ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 1,350 บาทต่อบาททองคำ หรือประมาณ 7.07% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ราคาน้ำมัน ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอุปสงค์ทองคำในตลาดโลก ขณะที่ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังปัจจัยการเมืองลดแรงกดดัน สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าในตลาด NYMEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 107.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านอุปสงค์ ทั้งจากปัญหาการผลิตในลิเบียและที่สำคัญคือปัญหาความรุนแรงทางการเมืองของอียิปต์ โดยศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าการเลือกแนวทางการแก้ปัญหาการชุมนุมประท้วงด้วยวิธีการใช้ความรุนแรงอันจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมชุมก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าจะเป็นปัญหาระยะสั้น นอกจากนี้ ยังต้องประเมินผลกระทบจากพายุโซนร้อนในอ่าวเม็กซิโกว่าจะกระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันและกำลังการผลิตมากน้อยเพียงใด โดยปัจจัยราคาน้ำมันจะยังส่งผลต่อราคาทองคำไปอีกอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและอาจเป็นเงื่อนไขให้เฟดคงมาตรการคิวอีต่อ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งสูงขึ้นเหนือระดับ 2.8% จากระดับต่ำสุดใกล้ 1.4% ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการให้สัญญาณชะลอมาตรการคิวอี โดยศูนย์วิจัยฯ เชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนจะเบียดบังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเป็นปัจจัยที่เฟดจะต้องพิจารณาถ้าจะปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตร (ปัจจุบันเฟดซื้อพันธบัตร 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน) โดยถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่เหนือระดับ 2.8% เชื่อว่าการประชุมในเดือนกันยายนจะยังไม่มีการชะลอมาตรการคิวอี นอกจากนี้ เรื่องของอุปสงค์ทองคำที่เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุปสงค์ในเอเชียที่ยังมีความต้องการสะท้อนผ่านค่า premium ในการซื้อทองคำอยู่ราว 2-2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ขณะที่เดือนตุลาคมจะเป็นเทศกาล Diwali ของอินเดียซึ่งมักจะมีการซื้อทองคำเป็นของกำนัล ส่วนการซื้อเพื่อการลงทุนอย่างทองคำแท่งและการลงทุนผ่านหน่วยลงทุนเชื่อในระยะสั้นฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซาในช่วงครึ่งแรกของปี และราคาทองคำที่อ่อนตัวลงยังจูงใจผู้ลงทุนซื้อเก็งกำไร สื่อมวลชนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ภัทริกา สมคะเน 02 673 9911 ต่อ 250

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ