กสอ. จับมือจังหวัดไซตามะ ดันกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคไทยปี 57

ข่าวทั่วไป Thursday August 22, 2013 13:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ภายหลังที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น โดยกรอบของความร่วมมือประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดไซตามะและประเทศไทย การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดไซตามะและประเทศไทยการขยายธุรกิจในระดับสากล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยคาดว่าจากความร่วมมือดังกล่าวผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตในประเทศไทย และเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของโลก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ กลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสาร กลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดไซตะมะ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีโต๊ะญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนาระหว่างไทยและญี่ปุ่นในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดโอซาก้า จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดฮิโรชิม่า และจังหวัดชิมาเน่ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น อีกจำนวนมาก โดยคาดว่าสิ้นปี 2556 จะมีมูลค่าการลงทุนจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยสูงถึง 3.1 แสนล้านบาท นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEsของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกรอบของความร่วมมือใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดไซตามะและประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมหลักและมีความเชี่ยวชาญของจังหวัดไซตะมะ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์สมองกล อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสาร อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และสุขภาพ ฯลฯ 2. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดไซตามะและประเทศไทย เพื่อขยายธุรกิจในระดับสากลผ่านการจับมือทางธุรกิจ (Business Matching) 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรมร่วมกันและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ จังหวัดไซตามะ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดไซตามะและประเทศไทย ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิด อาทิ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการประชุมทางธุรกิจ นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยการใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกัน เพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่กัน ซึ่งจะส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรมไทที่จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีโต๊ะญี่ปุ่นคอยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ และในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับการติดต่อจากหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น อาทิ จังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดไซตามะ จังหวัดโอซาก้า จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดฮิโรชิม่า และจังหวัดชิมาเน่ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs ของตนมีการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น เพื่อป้องกันการปิดตัวลงของ SMEs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเห็นการรักษาเทคโนโลยีที่มีอยู่เฉพาะในแต่ละ SMEs หรือที่เรียกว่า “OnlyOneTechnology” ให้ยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมักประสบปัญหาในการผลิต อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ตลาดที่หดตัวลง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงปี 2556 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.1 แสนล้านบาท” นายประเสริฐ กล่าวสรุป ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ มร. คิโยชิ อุเอดะ ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ เป็นผู้ลงนาม ในวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีข้าราชการ และนักธุรกิจญี่ปุ่น ร่วมงานเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0 2202 4426-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ