สธ. ร่วมกับองค์การอนามัยโลก แถลงผลการติดตามแผนงานวัณโรคแห่งชาติ พบวัณโรคเป็นปัญหาในประชากรย้ายถิ่นทั้งไทยและต่างด้าว นับเป็นปัญหาท้าทายก่อนเข้าสู่ยุค AEC

ข่าวทั่วไป Wednesday August 28, 2013 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กรมควบคุมโรค นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายแพทย์ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการแถลงข่าว ภายหลังผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงขององคืการอนามัยโลก นำโดย Dr.Mario Raviglione ผู้อำนวยการแผนงานวัณโรค สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก Dr.Paul Nunn ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรค Dr.Yonas Tegegn ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและผู้แทนจากฝ่ายไทยนำโดย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค เข้าพบเพื่อรายงานผลการติดตามทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ครั้งที่ 5 (Joint International Monitoring Mission to Review NTP Thailand 2013) นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า โรควัณโรคยังคงเป็นปัญหาแพร่ระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคในระดับรุนแรง ซึ่งคาดว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งรายเก่าและใหม่ประมาณ 110,000 ราย โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 86,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 9,800 ราย และประการสำคัญที่สุดที่ต้องเร่งจัดการปัญหาให้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานและดื้อยารุนแรง ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาสิ้นเปลืองกว่าเชื้อวัณโรคทั่วไป 50 ถึง 100 เท่า องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยารุนแรงประมาณ 2,000 ราย และอาจแพร่เชื้อชนิดนี้ไปสู่คนอื่นได้อีก Dr.Mario Raviglione กล่าวว่า ผลการกำกับติดตามทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 13-23 สิงหาคม 2556 พบว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างและระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีความพร้อมทั้งงบประมาณและการจัดหายาวัณโรค คนไทยสามารถเข้าถึงบริการมากกว่าร้อยละ 98 ผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคมีแนวโน้มดีขึ้นมาก อัตราป่วยอัตราตายลดลง แต่ความท้าทายเร่งด่วน และปัญหาใหญ่ที่พบก่อนเข้าสู่ยุค AEC คือปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคดื้อยาหลายขนาน การเข้าถึงบริการ ความร่วมมือในการรักษา โดยมุ่งเน้นในกลุ่มประชากรย้ายถิ่นทั้งคนไทยและต่างด้าว โดยประชากรเหล่านี้อาจพบปัญหาการเข้าถึงบริการ การวินิจฉัย กำกับการดูแลรักษาวัณโรคได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการว่าน่าจะมีประชากรย้ายถิ่นโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวทั้งถูกต้องและผิดกฎหมายถึง 3.5 ล้านคน โดยเฉพาะจังหวัดที่เข้าดำเนินการ คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ภูเก็ต ตาก และศรีสะเกษ จะมีประชากรย้ายถิ่นทั้งไทยและต่างด้าวกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับประชากรท้องถิ่น พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเร่งรัด ดังนี้ 1. กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับปัญหาวัณโรค โดยเฉพาะในด้านงบประมาณ เพื่อผลักดันให้เข้าถึงบริการ เร่งรัดการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วย เสริมความเข้มแข็งทั้งภาครัฐและเอกชนในการควบคุมป้องกันวัณโรค 2. พัฒนาระบบรายงาน โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การขึ้นทะเบียนรักษา โดยเฉพาะวัณโรคในเด็ก วัณโรคดื้อยาหลายขนาน การเฝ้าระวัง ติดตามผู้ป่วย ทั้งในกลุ่มประชากรไทยและต่างด้าว 3. เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เพื่อป้องกันปัญหาวัณโรคดื้อยา เน้นในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ติดเชื้อHIV กลุ่มผู้สูงอายุ และประชากรย้ายถิ่นทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร 4. ในกลุ่มประชากรย้ายถิ่นทั้งไทยและต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุขควรสนับสนุนให้เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะต่างด้าวไร้สิทธิ มีมาตรการในการส่งต่อ ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีมีผลทำให้ปัญหาวัณโรคปะทุขึ้นอีก คนที่ติดเชื้อเอชไอวี ประชากรย้ายถิ่น แรงงานต่างด้าว ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคสูงกว่าคนปกติ กระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับปัญหาวัณโรคมาตลอด โดยพยายามจะจัดสรรงบประมาณให้มากขึ้น เพิ่มศักยภาพโดยการพัฒนาบุคลากร และมีแนวคิดที่จะผลักดันงานวัณโรคให้บรรลุผลสำเร็จ มีการกำหนดแผนป้องกันและควบคุมวัณโรค เพื่อเข้าสู่ยุค AEC รวมทั้งสนับสนุนองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและกองทุนโลกเพื่อต่อสู้และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรค ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ