ภัยแผ่นดินไหว เรียนรู้ไว้เพื่ออยู่รอด

ข่าวทั่วไป Friday October 14, 2005 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ปภ.
แผ่นดินไหว” นับเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ หรือ พยากรณ์ ระยะเวลาการเกิด สถานที่เกิด และระดับความแรงได้อย่างแม่นยำและแน่นอน และในแต่ละครั้งที่เกิดไม่ว่าจะ ณ บริเวณใดของโลก ก็ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ โดยเมื่อเช้า วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ ก็ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหว วัดระดับความรุนแรงได้ถึง 7.8 ริคเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งเป็นแนวพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างประเทศปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน สร้างความเสียหายให้กับประเทศดังกล่าวอย่างมหาศาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 30,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 60,000 คน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนที่อยู่อาศัย เครื่องอุปโภค บริโภค ถึง 2.5 ล้านคน
ต้นเหตุของแผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันของเปลือกโลก โดยมักเกิดตรงบริเวณ “ขอบ” ของแผ่นเปลือกโลก การเคลื่อนตัวในลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจาก “ชั้นหินหลอมละลาย” ที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และลอยตัวผลักดันเปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่างๆ กัน พร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณขอบของ ชิ้นเปลือกโลก จึงเป็นส่วนที่ชนกัน เสียดสีกัน หรือแยกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกใดๆ ผ่านหรือ อยู่ใกล้กับประเทศใด ประเทศนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแผ่นดินไหวสูง เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์
นอกจากนี้ พลังงานที่สะสมในเปลือกโลกยังถูกส่งผ่านไปยังเปลือกโลกพื้นของทวีปตรงบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลก หรือที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” เมื่อระนาบรอยร้าวที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมากๆ จะทำให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลัน เกิดเป็นแผ่นดินไหวได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมบางอย่างของมนุษย์ ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน เช่น การทำเหมือง สร้างเขื่อน และขุดเจาะบ่อน้ำมัน
สำหรับประเทศไทย แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ จะตั้งอยู่ใกล้ๆ กับแนวในมหาสมุทรอินเดีย
เกาะสุมาตรา และประเทศพม่า ส่วนแนวรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และ ภาคตะวันตก ที่น่าสังเกต คือ แนวรอยเลื่อนบางแห่งเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว เช่น รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนระนอง ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของไทย พบว่า มี 4 จังหวัดที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมากที่สุด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงราย โดยมี ความเสี่ยงประมาณ 7 — 8 เมอร์คัลลี่ ซึ่งมีผลทำให้อาคารสูงเสียหายได้ ส่วนจังหวัดที่เสี่ยง รองลงมา ส่วนใหญ่
ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ และภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ลำปาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงประมาณ 5 — 7 เมอร์คัลลี่ ซึ่งทำให้อาคารเสียหายเล็กน้อย ส่วนพื้นที่ซึ่งปลอดภัย มากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้พยายามศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจถึงกลไกการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อการพยากรณ์แผ่นดินไหว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ 100 เปอร์เซนต์ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ขนาด และช่วงเวลาการเกิด แต่ก็มักมีการสันนิษฐาน กันว่า หากสัตว์มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ เช่น แมลงสาบ สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตระหนกตกใจ หนู งู หนีตายออกมาจากรู หรือปลากระโดดขึ้นจากผิวน้ำ
นอกจากนี้ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ ในบริเวณเดียวกันหลายสิบครั้งหรือหลายร้อยครั้งใน
ระยะเวลาอันสั้น อาจเป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวตามมาได้ในไม่ช้า หรือในบางพื้นที่ที่ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่าเทียมกัน ในอนาคตได้ หากบริเวณนั้นว่างเว้นช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี หรือ หลายร้อยปี ยิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะเวลายาวนานเท่าใด การเคลื่อนตัวโดยฉับพลันเป็นแผ่นดินไหวก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น สิ่งจำเป็นต่อการเผชิญภัยแผ่นดินไหว จึงได้แก่ การวางแผนดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว และการเตรียมพร้อม ทั้งมาตรการป้องกัน และบรรเทาภัยแผ่นดินไหว ในระยะสั้น ระยะยาว เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภัยธรรมชาติของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนต่างๆ รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย กรณีเกิดแผ่นดินไหว และให้มีการแบ่งเขตแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของความเสี่ยงภัย การออกกฎหมายให้อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัย การวางแผนจัดการที่ดี หากเกิดความเสียหายร้ายแรงหลังเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยลดความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวได้มาก--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ