ปภ.เตือนประชาชน 7 จังหวัดภาคอีสาน ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 5 — 7 กันยายน 2556

ข่าวทั่วไป Friday September 6, 2013 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ในช่วงวันที่ 5 — 7 กันยายน 2556 พร้อมประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5 — 7 กันยายน 2556 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย 7 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม หนองคาย บึงกาฬอุดรธานี หนองบัวลำภู และเลย จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจาก ภาวะฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปภ.ได้ประสาน 7 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร เขต 14 อุดรธานี จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมงและมิสเตอร์เตือนภัยตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด รวมถึงตรวจสอบฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อประกาศแจ้งเตือนภัยและอพยพนักท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ