ค่าดัชนีเชื่อมั่นทองคำเพิ่มขึ้น 2 เดือนติด แนะช่างทองพัฒนารับมือกระแสทองกลับ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ศูนย์วิจัยทองคำ ศูนย์วิจัยทองคำเผย ค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 19.94% จากเดือนก่อน สะท้อนนักลงทุน และผู้ค้าทองคำในประเทศมองกระแสทองคำเชิงบวก แต่ค่าเงินบาท และ QE ยังเป็นตัวแปรสำคัญ ผู้ค้าแนะช่างทองไทยลับฝีมือสนองความต้องการในประเทศ และพัฒนาแข่งขันใน AEC หลังอุปสงค์ชะลอช่วงราคาเพิ่ม และใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน ส่งผลช่างทองในอุตสาหกรรมลดลงเกือบครึ่ง นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 63.99 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 10.64 จุด หรือ 19.94% สะท้อนทัศนคติเชิงบวกของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อราคาทองคำในประเทศเดือนกันยายน โดยเมื่อแยกตามประเภทกลุ่มตัวอย่างพบว่ากลุ่มผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยมีปัจจัยที่เชื่อว่าจะกระทบต่อราคาทองคำระหว่างเดือน 50.42% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าค่าเงินบาทจะกระทบต่อราคาทองคำในประเทศและมีประเด็นทิศทางสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการชะลอมาตรการ QE ที่มีการให้น้ำหนักรองลงมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนสอดคล้องกันยังสะท้อนทัศนคิตในเชิงบวก โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 67.08 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 11.34 จุด หรือ 20.34% และมีประเด็นค่าเงินบาท ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการชะลอมาตรการ QE เป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน ส่วนคำถามว่านักลงทุนจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้าหรือไม่พบว่า 32.60% ของกลุ่มตัวอย่างจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า 36.15% คิดว่าจะยังไม่ซื้อทองคำและ 31.25% ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อหรือไม่ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) ที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง เชื่อว่า ราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนกันยายนโดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300 — 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ากรอบราคาต่ำสุดในเดือนกันยายนน่าจะอยู่ในช่วง 1,300-1,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดน่าจะอยู่ในกรอบ 1,460-1,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 19,000-23,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 19,500-20,500 บาทต่อหนึ่งบาท และมีกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดบริเวณ 22,000-25,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยมีประเด็นเรื่องการชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นประเด็นสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของยุโรปและประเด็นซีเรียที่เชื่อจะกระทบราคาทองคำเช่นกัน ด้าน ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล เลขานุการอนุกรรมส่งเสริมวิชาชีพช่างทำทองรูปพรรณ กล่าวให้ข้อมูลวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ค้าทองคำรายใหญ่พบว่า ร้อยละ 67 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าช่างทองมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ขณะที่ร้อยละ 22 เชื่อว่าจำนวนช่างทองมีความพอเพียงต่อความต้องการ มีเพียงร้อยละ 11 ที่ไม่แน่ใจว่าเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ค้าทีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ช่างทำทองคำรูปพรรณที่มีขนาดเล็กมีความขาดแคลนมากที่สุด โดยเฉพาะขนาด 1-2 สลึง มากถึงร้อยละ 81.8 โดยจากผลสำรวจพบว่าในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมาจำนวนช่างทองมีแนวโน้มลดจำนวนลงกว่าร้อยละ 45 ของจำนวนที่มีอยู่เดิม ซึ่งปัจจัยหลักในการเกิดปัญหามี 3 ประการ ได้แก่ 1) ปัญหาด้านอุปสงค์ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสูง 2) ปัญหาด้านข้อจำกัดในวิชาชีพอย่างระยะเวลาในการพัฒนา อัตราค่าแรงเดิม และสุดท้ายปัญหาด้านการทดแทนของเครื่องจักร โดยร้อยละ 89 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าประเทศไทยควรจัดให้มีการพัฒนาช่างทองอย่างเป็นระบบ นอกจากจะตอบสนองความต้องการทองคำในประเทศ สร้างอาชีพและแรงงานอาชีพแล้ว ยังตอบรับตวามต้องการของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาวและกัมพูชา ที่นิยมทองรูปพรรณของไทยเพื่อตอบรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง สื่อมวลชนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ภัทริกา สมคะเน 02 673 9911 ต่อ 250

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ