ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)” ที่ “BBB" และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Stable” จาก “Negative”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 12, 2013 13:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) เป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทที่ฟื้นตัวสู่ระดับปกติ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่ครบวงจร และตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ” อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนด้านราคาซึ่งเป็นลักษณะโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ ตลอดจนความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอุปสงค์ของกระดาษที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทที่ยังไม่แล้วเสร็จและธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ยังคงมีอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างยังคงเป็นประเด็นกังวลต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถดำเนินงานโรงงานกระดาษ PM3 และโรงงาน Alizay ได้ตามแผน ในขณะที่ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ” ที่แข็งแกร่งคาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายตลาดและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับกำลังการผลิตกระดาษของกลุ่มที่เพิ่มขึ้นได้ บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิต 427,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตกระดาษของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ที่ระดับ 1,033,000 ตันต่อปี โดยในปี 2555 บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายกระดาษคิดเป็น 93.7% ของรายได้รวม รายได้ส่วนที่เหลือมาจากการจำหน่ายเยื่อกระดาษ บริษัทมียอดขายกระดาษกระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งครอบคลุมกว่า 138 ประเทศทั่วโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 34% อีก 66% มาจากการส่งออกซึ่งประกอบด้วยรายได้จากตลาดในภูมิภาคเอเซีย 52% และภูมิภาคอื่น ๆ 14% ณ เดือนมิถุนายน 2556 นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในสัดส่วน 76.2% โดยบริษัทได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทและของบริษัทในกลุ่ม โดยบริษัทมีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคในปี 2552 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย บริษัทจึงต้องเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป ในระหว่างปี 2552-2555 กลุ่มบริษัทมีการโอนย้ายและขายสินทรัพย์ระหว่างกันหลายรายการ ในขณะที่แผนการปรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัทนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้งและใช้ระยะเวลานานกว่าที่ได้วางแผนไว้ ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทคือกระดาษพิมพ์เขียนโดยเฉพาะกระดาษรีมเล็ก ทั้งนี้ เมื่อเทียบราคากระดาษพิมพ์เขียนกับราคาเยื่อกระดาษแล้ว กระดาษพิมพ์เขียนมีราคาที่ค่อนข้างคงที่กว่า โดยเฉพาะภายใต้ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ” ซึ่งมีสัดส่วนการจำหน่ายประมาณ 60% ของปริมาณการจำหน่ายกระดาษทั้งหมดของบริษัท ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 19,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% โดยมีปริมาณขายกระดาษเพิ่มขึ้น 6.3% เป็นประมาณ 533,000 ตัน ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเยื่อใยสั้นลดลง 14.1% เหลือประมาณ 63,000 ตัน ปริมาณที่ลดลงนี้สะท้อนถึงกำลังการผลิตใหม่ของโรงกระดาษ PM3 และความพยายามของบริษัทในการเพิ่มสัดส่วนการใช้เยื่อใยสั้นสำหรับการผลิตกระดาษ ในเดือนพฤศจิกายน 2555 บริษัทเริ่มดำเนินงานโรงงานผลิตกระดาษแห่งที่ 3 (PM3) ซึ่งมีกำลังการผลิต 220,000 ตันต่อปี โดย PM3 นับเป็นโรงงานผลิตกระดาษที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทและได้รับการออกแบบให้ใช้เยื่อใยสั้นเป็นวัตถุดิบทั้ง 100% ปัจจุบัน PM3 อยู่ในช่วงการทดลองเดินเครื่องและคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2556 โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 6,367 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2556 บริษัทได้ซื้อโรงงานผลิตกระดาษ Alizay ด้วยมูลค่า 18 ล้านยูโร โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มีกำลังการผลิตกระดาษ 300,000 ตันต่อปี แต่ได้หยุดผลิตไปในปี 2555 บริษัทต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 17 ล้านยูโรเพื่อให้โรงงานแห่งนี้กลับมาผลิตได้อีก โดยเริ่มเดินเครื่องอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2556 ส่วนวัตถุดิบหลักคือเยื่อใยสั้นนั้นคาดว่าจะนำเข้าจากประเทศไทย โรงงานกระดาษแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตของบริษัทในการจำหน่ายกระดาษในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาเหนือ เพื่อสนับสนุนกำลังการผลิตกระดาษของบริษัทที่มีกว่า 1 ล้านตัน บริษัทได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับตลาดส่งออก ได้แก่ กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ” ขนาด 70 แกรม ซึ่งจะเริ่มส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม มาเลเซีย จีน และไต้หวัน โดยผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะมีราคาต่ำกว่ากระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ” ขนาด 80 แกรม แต่ยังคงคุณภาพภายใต้ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ” เช่นเดิม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 บริษัทมีรายได้ 8,408 ล้านบาท ลดลง 15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่ลดลงเป็นผลจากปริมาณขายเยื่อใยสั้นแก่ลูกค้าภายนอกที่ลดลง 67.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปริมาณขายกระดาษลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือประมาณ 257,000 ตัน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ลดลงในกลุ่มกระดาษรีมใหญ่ (Folio) และกระดาษรีมเล็ก (Cut-sized) ภายใต้ตราสินค้าอื่น แต่ผลิตภัณฑ์กระดาษรีมเล็กภายใต้ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ” ยังคงเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากต้นทุนชิ้นไม้สับและค่าพลังงานลดลง ประกอบกับบริษัทได้ลดการใช้เยื่อใยยาวสำหรับการผลิตกระดาษลงอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นจาก 8.2% ในปี 2554 เป็น 16.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ต้นทุนชิ้นไม้สับลดลงเนื่องจากราคาไม้ลดลง ประกอบกับบริษัทเพิ่มสัดส่วนการใช้ไม้ที่บริษัทปลูกเองและรับซื้อไม้โดยตรงจากเกษตรกร นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นกระดาษ (ยูคาลิปตัส) บนคันนาโดยบริษัทเป็นผู้จัดหากล้าไม้ให้อีกด้วย โดยกลยุทธ์นี้คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าไม้ของบริษัทและช่วยให้มั่นใจได้ถึงปริมาณไม้ที่เพียงพอกับความต้องการของบริษัทในระยะยาว ประโยชน์ดังกล่าวนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป บริษัทมีแผนจะลงทุนประมาณ 6,300 ล้านบาทสำหรับโครงการก่อสร้างโรงผลิตเยื่อกระดาษแห่งที่ 3 ที่มีขนาดกำลังการผลิต 472,500 ตันต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับกำลังการผลิตกระดาษที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทมีเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น 20,892 ล้านบาทจากการก่อสร้างโรงกระดาษ PM3 และการลงทุนในโรงผลิตกระดาษ Alizay อย่างไรก็ตาม จากที่คาดการณ์ว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี และภาระเงินกู้ที่ต้องชำระปีละประมาณ 3,000 ล้านบาทในปี 2558-2559 อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษแห่งที่ 3 โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 58.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (DA) อันดับเครดิตองค์กร: BBB อันดับเครดิตตราสารหนี้: DA15DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB DA162A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB DA16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB DA172A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 754.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB DA172B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,245.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB DA17DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB DA182A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,339.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB DA182B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,160.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ