สถาบันวิจัยเสนอตั้งเขตพื้นที่พิเศษฟื้นฟูวิถีชาวเล

ข่าวทั่วไป Friday September 13, 2013 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ดร. โสมสุดา ลียะวณิช ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การปฏิบัติงานตามแนวนโยบายการบูรณาการเพื่อพื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ทางคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต และแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ในภารกิจสำคัญที่สร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น แต่เนื่องจากระยะเวลาการดำเนินการตามมติครม. เป็นระยะ 1-3 ปี และได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินงานตามมติไม่เพียงพอ เพราะบางปัญหาเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เช่น ปัญหาเรื่องสัญชาติ พบว่าขณะนี้ มีชาวเลกว่า 600 คน ยังไม่มีบัตรประชาชน รวมถึงปัญหาเรื่องอาชีพและพื้นที่ทำกินที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลเปลี่ยนไป เนื่องจากขณะนี้มีกฎหมายต่างๆออกมา ทั้งเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์พืช สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ในเขตอุทยานที่ชาวเลเคยทำมาหากิน ดังนั้น คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จึงได้หารือกันในเบื้องต้นว่า อาจมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาการขยายเวลาตามมติ ครม. ออกไปอีก 3 ปี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลต่อไป ดร. โสมสุดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้เสนอพื้นที่นำร่องเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษในเบื้องต้นไว้ 9 แห่ง ได้แก่ 1. ชุมชนมอแกนเกาะเหลา จ.ระนอง 2. ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา 3. ชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน จ.พังงา 4. ชุมชนบ้านลำแก่น (ท้ายเมือง) จ.พังงา 5. ชุมชนบ้านเหนือ (หินลูกเดียว) จ.ภูเก็ต 6. ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสะป๊า จ.ภูเก็ต 7. ชุมชนอูรักลาโว้ยและมอแกนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต 8. ชุมชนอูรักลาโว้ยโต๊ะบาหลิ่ว เกาะลันตา จ.กระบี่ และ9. ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสังกาอู้ เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งแนวคิดสำหรับพื้นที่เหล่านี้ คืออาจเป็นพื้นที่ดำเนินงานได้ก่อนในส่วนของการสร้างความมั่นคงเรื่องพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน พื้นที่ทำมาหากินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และในช่วงต่อไปอาจจะเป็นการสร้างความมั่นคงเรื่องอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการฯ จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ