สคร.7อุบลฯ เตือนประชาชนระวังโรคพิษสุนัขบ้า

ข่าวทั่วไป Friday September 20, 2013 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า หลังพบทั่วประเทศเสียชีวิตแล้ว 6 ราย ย้ำหากถูกสัตว์กัด หรือข่วนแล้วไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นไว้ก่อน โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีความรุนแรงมาก อาการโรคนี้คือมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คันบริเวณรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด อาการคันลามไปที่อื่น ต่อมาจะหงุดหงิด น้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็ง บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง มักป่วยประมาณ 2-6 วัน และเสียชีวิตทุกราย ปัจจุบันประเทศไทยมี ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงมาก จากปีที่สูงสุดใน พ.ศ.2523 มีผู้เสียชีวิต 370 ราย ต่อมาทุก 10 ปี คือ พ.ศ.2533, 2543, 2553 พบ ผู้เสียชีวิตลดลงตามลำดับ 185, 50 และ 15 ราย ในปี พ.ศ.2554 และ 2555 พบผู้เสียชีวิตเหลือ 8 ราย และ 4 ราย ตามลำดับ แต่ในปี พ.ศ.2556 นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม-5 กันยายน พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 6 ราย นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ายังน่าเป็นห่วง จำเป็นต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว และต้องขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยสอดส่องดูแลสุนัข แมว เนื่องจากระยะหลังพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าในคนมากกว่าสุนัขจรจัด ปกครองควรดูแลอย่าให้บุตรหลานไปเล่น หรือคลุกคลีกับสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกสุนัขกัด โดยอย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าหยิบจับ อย่ายุ่ง อย่าหยอก กับสุนัขแปลกหน้า เพราะอาจถูกกัด หรือข่วนได้ หากถูกสัตว์กัด หรือข่วนแล้วไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นไว้ก่อนให้รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ใส่ยาใส่แผลสด และรีบไปพบแพทย์ รวมทั้งเฝ้าระวังสุนัขหรือแมวที่มากัดเป็นเวลา 10 วัน หากสัตว์ตายระหว่างดูอาการ ให้แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตัดหัวสุนัขส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และทำการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ 1422 หรือศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค 0-2590-3333 อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัข เจ้าของสุนัขและแมวต้องเริ่มฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุตั้งแต่ 2 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี ที่สำนักงานปศุสัตว์ใกล้บ้าน นายแพทย์ศรายุธ กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ