นศ.ครุศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ยามข้าวยากหมากแพง ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของการยีตาล ใช้ในครัวเรือน

ข่าวทั่วไป Friday September 20, 2013 15:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--มทร.ธัญบุรี จากสภาวะปัจจุบันราคาก๊าซหุงต้มมีการปรับราคาที่สูงขึ้นทุกเดือน เดือนละห้าสิบสตางค์ต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มที่จะปรับไปถึง 12 เดือน ซึ่งส่งผลทำให้ภาระค่าครองชีพของครัวเรือนจึงสูงมากขึ้นตามไปด้วย จากปัญหาดังนั้นคณะวิจัยประกอบด้วย “เต๋า” นายธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรีรหัส “บรีส” นายกรกฤษ เชื้อชัยนาท “อาท” นายธงชัย มิดชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีอาจารย์ชัยรัตน์ หงส์ทอง เป็นที่ปรึกษา เกิดแนวคิดที่จะนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการยีตาลมาผลิตก๊าซเพื่อใช้ในครัวเรือน เต๋า ตัวแทนคณะผู้วิจัย เล่าว่า เนื่องจากที่บ้านมีอาชีพยีตาลเพื่อเอาเนื้อตาลไปขาย กระบวนการในการยีตาลต้องมีน้ำเสียทิ้งทุกวัน โดยทิ้งน้ำเสียทิ้งไว้ในบ่อหลังบ้านโดยไม่ทราบถึงคุณค่าที่มีอยู่ภายในของบ่อน้ำเสียเลย จากการศึกษาและสังเกตบ่อน้ำเสียจะมีก๊าซเกิดขึ้น น่าจะสามารถทำประโยชน์ได้ คณะผู้วิจัยจึงได้คิดโครงงาน “การผลิตก๊าซชีวภาพที่ได้จากบ่อน้ำเสียของกระบวนการยีตาล” ขึ้น ขั้นตอนในการผลิตก๊าซเริ่มจาก 1. สังเกตบ่อน้ำเสียจากการยีตาลว่ามีขนาดเท่าไร โดยขนาดของบ่อน้ำเสียในการวิจัยในครั้งนี้มีขนาด 4x4 เมตร 2. จากนั้นนำผ้าใบมาทำการตัดให้ได้ขนาดกับบ่อน้ำเสียที่ได้จากการยีตาลและคลุมลงไปบนบ่อน้ำเสีย เพื่อเก็บก๊าซที่ลอยขึ้นมา โดยก๊าซที่ลอยขึ้นมาเรียกว่า “ก๊าซชีวภาพ” 3. นำท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว มาเจาะรู (เพื่อให้น้ำเข้าไปในท่อ) จากนั้นเอาท่อที่เจาะรู ยึดติดกับผ้าใบทั้ง 4 ด้าน ของขอบผ้าใบ เป็นการกดไว้บริเวณขอบของผ้าใบ เพื่อไม่ให้ก๊าซที่เกิดขึ้นไหลออกไปจากบ่อก๊าซที่เราทำขึ้น 4. ทำการต่อท่อและสายลำเลียงก๊าซไปใช้ในครัวเรือน 5. ปล่อยให้เกิดกระบวนการเกิดก๊าซชีวภาพ ประมาณ 7 วัน ต่อจากนั้นสามารถนำก๊าซที่ได้ไปใช้ในครัวเรือน ขอแนะนำหัวแก๊สที่จะใช้ ต้องเป็นหัวแก๊สพิเศษที่ใช้สำหรับก๊าซชีวภาพ มีขายตามท้องตลาดทั่วไป นางประนอม โพธิ์ศรี ผู้ปกครองของนายนายธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรี และเจ้าของบ้านที่ได้ทดลองใช้ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของการยีตาล เล่าว่า หลังจากที่ได้ทดลองใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเวลา 3 เดือน ลดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากก๊าซหุงต้มที่ใช้ปกติจะใช้ 1 ถัง /1เดือน บวกกับราคาก๊าซที่ขึ้นทุกเดือน ถือว่าเป็นการประหยัดและสามารถนำน้ำเสียจากการยีตาลมาใช้ประโยชน์ เพราะว่า ที่บ้านต้องยีตาล เพื่อเอาเนื้อตาลส่งตลาดทุกวัน ภูมิใจที่ลูกชายนำความรู้ที่เรียนมา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยที่เพื่อนบ้านในหมู่บ้านได้ชื่นชม และอยากให้มีใช้ในครัวเรือนบ้าง นอกจากก๊าซชีวภาพที่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว ยังเป็นการลดกลิ่นของน้ำเสียอีกด้วย ผลจากการเก็บข้อมูลพบว่าในครัวเรือนจะใช้ก๊าซหุงต้มเฉลี่ย 31 วันต่อถัง 15 กิโลกรัม ดังนั้นจึงนำก๊าซชีวภาพที่ได้มาทำการประกอบอาหารแทนก๊าซหุงต้ม เมื่อนำมาคิดถึงค่าใช้จ่ายในการที่ต้องจัดซื้อก๊าซหุงต้มสามารถประหยัดได้เดือนละ 310 บาท ใน 1 ปีสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3,720 บาทต่อปี เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการนำเอาของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยค่าวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของการยีตาล ประมาณ 2,000 บาท ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายธำรงศักดิ์ โพธิ์ศรี โทร. 085-2313747

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ