กต.ชี้แจงกรณีจดหมาย ในคอลัมน์สารพันปัญหาของหนังสือพิมพ์ "ไทยรัฐ"

ข่าวทั่วไป Tuesday July 7, 1998 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--7 ก.ค.--กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ตามที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2541 (ภาคบ่าย) คอลัมน์สารพันปัญหา โดยอ๊อด เทอร์โบ ได้ตีพิมพ์ภาพพระพุทธรูปซึ่งมีหญิงสาวเปลือยกายนั่งคร่อมพระพุทธรูปอยู่ พร้อมกันตีพิมพ์จดหมายของผู้ที่ใช้นามแฝงว่า "ชาวพุทธคนหนึ่ง" มีใจความย่อว่า ผู้เขียนจดหมายได้ไปพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวที่ร้านขายของแห่งหนึ่งในเมือง Innsbruck ประเทศ Austria จึงได้แอบถ่ายภาพมา และขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องหามาตรการเพื่อแก้ไขเรื่องเช่นนี้ นอกจากนี้ เจ้าของคอลัมน์สารพันปัญหาได้ขอให้กรมการศาสนาประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเร็วที่สุด นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า เมื่อได้ทราบการร้องเรียนของผู้ที่ใช้นามแฝงว่า "ชาวพุทธคนหนึ่ง" ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้วกระทรวงฯ ก็ได้รีบดำเนินการดังต่อไปนี้ทันที คือ :-
1. ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ซึ่งต่อมาสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รายงานกระทรวงฯ ว่า ได้มอบหมายให้กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอินสบรูกดำเนินการตรวจสอบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2541 และได้รับรายงานว่า ได้ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2541 เป็นต้นมา ดำเนินการหาร้านดังกล่าว ปรากฎว่าไม่พบเห็นแต่ประการใด และโดยที่เมืองอินสบรูกเป็นเมืองค่อนข้างเล็ก สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ จึงให้ความเห็นว่าอาจจะมีชาวออสเตรียนได้ทำการทักท้วงเจ้าของร้าน และได้มีการนำพระพุทธรูปดังกล่าวออกไปจากร้านแล้ว ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้กำชับให้สถานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งนี้ รวมทั้งสถานกงสุลใหญ่อื่นๆ ในเขตอาณาคอยสอดส่องอย่าให้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ดี หากเจ้าของจดหมายมีชื่อร้านและทำเลที่ตั้งโดยละเอียด ก็ขอได้โปรดแจ้งให้กระทรวงฯ ทราบด้วย เพื่อจักได้ดำเนินการแก้ไขให้ต่อไป
2. พร้อมกันนั้น กระทรวงฯ ได้ประสานกับกรมการศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหากุฎราชวิทยาลัย เพื่อขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปดังกล่าว และได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ดำเนินการหาข้อมูลและข้อเท็จจริง ต่าง ๆ ในเรื่องนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการชี้แจงแก่ผู้ที่ใช้นามแฝงว่า "ชาวพุทธคนหนึ่ง" ต่อไป และต่อมาหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวได้แจงข้อมูลให้กระทรวงฯ ทราบ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า รูปหล่อเช่นที่ปรากฎตามภาพในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นรูปเคารพของพุทธศาสนานิกาย "ตันตระ" ที่มีผู้นับถือแพร่หลายในประเทศเนปาล ภูฐาน และธิเบต และรูปเคารพดังกล่าวมิใช่รูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นรูปเคารพตามความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายตันตระ ซึ่งนับถือพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ 5 องค์ เรียกว่า ธยานีพุทธ หรือธยานีโพธิสัตว์ ซึ่งพระธยานีพุทธหรือพระธยานีโพธิสัตว์ซึ่งแต่ละองค์จะมีเทพี (เรียกว่า ศักดิ ซึ่งหมายถึงพลังหรืออำนาจ) เป็นคู่อยู่ด้วยกัน ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของพุทธแบบตันตระไม่ได้มีความประสงค์จะแสดงเรื่องลามก หยาบโลน หรือเรื่องเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด กรณีภาพของผู้ชาย(ธยานีพุทธ) กับผู้หญิง (เทพี) สวมกอดกันนั้น หมายถึงการเข้าถึงจุดประสานสอดคล้องกันระหว่างตัวปัญญา (แทนด้วยสตรีเพศ) และอุบายหรือความเมตตากรุณา (แทนด้วยบุรุษเพศ) อันจะเป็นหนทางนำไปสู่นิพพาน
กระทรวงการต่างประเทศใคร่ขอเรียนเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ มิได้นิ่งนอนใจที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ชาวต่างประเทศเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตลอดจนได้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอในการประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงในกรณีที่สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเทศไทย และประสานกับหน่วยงานของต่างประเทศเพื่อแก้ไขในกรณีที่ได้มีการกระทำที่เป็นการดูหมิ่น หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อศาสนาและวัฒนธรรมไทย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ