วชช. ชูกลยุทธ์หลักสูตรเน้นปฏิบัติ สนองชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 24, 2013 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยชุมชน (วชช.) ถือกำเนิดมากว่าหนึ่งทศวรรษ โดยจัดการศึกษาต่ำกว่าปริญญาและบริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนยกระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียน รวมถึงคนในชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการปูทางในการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้วย อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยชุมชนได้พัฒนาและทบทวนบทบาทตัวเองมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ปัจจุบันได้มีการอัปหลักสูตร จัดการเรียนรู้ให้ได้มาตรฐานทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดร.สุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน : กรอบนโยบายและแนวทางการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ในวิทยาลัยชุมชนว่า คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน มีมติเห็นชอบให้ทบทวนนโยบายการจัดการการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนและกำหนดแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยให้วิทยาลัยชุมชนจัดการเรียนรู้เป็น 3 รูปแบบ หรือเรียกว่า 3 Track ประกอบด้วย Track วิทยาลัยชุมชน Track อาชีพ และ Track อนุปริญญา สำหรับรูปแบบแรก คือ Trackวิทยาลัยชุมชน จะเป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน พัฒนาต่อยอดจากโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแต่มีการปรับปรุงให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับการนำไปประกอบอาชีพ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ชุมชน ทำแผนร่วมกับชุมชน จัดทำตามแนวคิดที่ได้กำหนดไว้ รูปแบบนี้คือเนื้อตัวของวิทยาลัยชุมชนจริงๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ตอบสนองความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น มีความยืดหยุ่นหลากหลาย ไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ตอบสนองความต้องการด้านสังคมและเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการ เกิดรายได้ และที่สำคัญคือสร้างความสงบและสันติสุขในชุมชนด้วย ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ Trackอาชีพ นับเป็นเรื่องที่ใหม่ที่สุด ซึ่งวิทยาลัยชุมชนยังไม่เคยดำเนินงานมาก่อน และมีความละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางวิชาชีพ การดำเนินการต้องศึกษาให้ชัดเจน โดยรวมจะเป็นการจัดการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ เน้นการพัฒนาในชุมชนและท้องถิ่นสู่การทำงานอย่างแท้จริง โดยไม่ได้มุ่งไปที่อนุปริญญาหรือปริญญา แต่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ สามารถประกอบอาชีพที่มีอยู่หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ ดำเนินการเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะโดยใช้ระบบชุดการเรียนรู้ (Modular Curriculum) ที่เน้นการปฏิบัติจริงระหว่างการเรียนรู้เมื่อเรียนจบแล้วสามารถปฏิบัติงานได้ตามวัตถุประสงค์ ของโมดูลนั้นๆ การจัดหลักสูตรแบบนี้จะทำให้การเรียนรู้ในวิทยาลัยชุมชนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิทยาลัยชุมชนได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่วิทยาลัยชุมชนของประเทศมาเลเซีย เห็นว่าน่าจะนำมาปรับใช้กับวิทยาลัยชุมชนของไทยได้ และการประเมินสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพโดยให้สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนจัดหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อผลิตกำลังคนตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศและให้สภาวิทยาลัยชุมชนจัดทำหลักสูตรรูปแบบโมดูลเพื่อผลิตบุคลากรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และรูปแบบสุดท้าย Trackอนุปริญญา เป็นสิ่งที่วิทยาลัยชุมชนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น เป็นการจัดการศึกษาระดับอนุปริญญา เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษา ที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญา ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐานและกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาให้ชัดเจนรวมทั้งสร้างอัตลักษณ์บัณฑิตวิทยาลัยชุมชนและตั้งธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank จัดระบบการเทียบโอนระดับผลการศึกษา นอกจากนี้สภาวิทยาลัยชุมชนควรประเมินหลักสูตรที่ได้ดำเนินการมาแล้วเกินกว่า 5 ปี เพื่อตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพว่าควรจะดำเนินการต่อหรือจะมีการปรับปรุงอย่างไร สำหรับทั้ง 3Track นี้ คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนได้ให้นโยบายมุ่งไปที่ Trackวิทยาลัยชุมชน และTrackอาชีพเป็นลำดับแรก ส่วนTrackอนุปริญญานั้น ให้ปรับลดบทบาทการดำเนินการลง ดร.สุเมธ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency based Curriculum) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาในวิทยาลัยชุมชนว่า การจัดการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีความสำคัญในการจัดการเรียนการสอนในวิทยาลัยชุมชนอย่างมาก เพราะหลักสูตรถูกสร้างขึ้นมาจากมาตรฐานของอาชีพหรืองานใดงานหนึ่งที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่กำหนดและสามารถประกอบอาชีพ ปฏิบัติงานหรือทำหน้าที่ในตำแหน่งงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรของวิทยาลัยชุมชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และทักษะที่สามารถพัฒนาหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชนในแต่ละแห่งได้ อีกทั้งหลักสูตรจะมีความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไปคือ เน้นการปฏิบัติงานได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจ ผู้เรียนมีอิสระและความคล่องตัว ส่วนผู้สอนเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและคอยกระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพเท่านั้น และการดำเนินโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนของวิทยาลัยชุมชนนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนไปสู่ทิศทางนโยบาย 3 tracks ดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ