คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แถลงข่าว“เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักกันแรงงานต่างด้าวกับการจัดการของรัฐไทย: ควรผลักดันหรือคุ้มครอง”

ข่าวทั่วไป Thursday September 26, 2013 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.-- คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ“เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักกันแรงงานต่างด้าวกับการจัดการของรัฐไทย: ควรผลักดันหรือคุ้มครอง” ในวันศุกร์ที่ 27กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 10.00 น. — 13.00 น. ณสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ตรงข้ามรพ.วชิระพยาบาล) ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on Rights of the Child : CRC) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามยังคงพบปัญหาและข้อท้าทายต่อการดำเนินการเพื่อให้เด็กทั้งมวลในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิ โอกาสต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในสภาวะฉุกเฉิน อาทิ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กซึ่งเป็นผู้ติดตามของผู้อพยพ หรือแรงงานข้ามชาติ จากประเทศซึ่งมีปัญหาความขัดแย้ง และสถานการณ์อันยากลำบาก รวมถึงเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศทั้งหลาย ซึ่งควรจะได้รับการดูแลและความคุ้มครองที่สอดคล้องกับปัญหาและสภาพการณ์เฉพาะของเด็ก รวมทั้งในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เอื้อต่อเด็กกลุ่มที่ต้องการการคุ้มครองเป็นพิเศษเช่นนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาสถานการณ์เด็กต่างชาติในสถานกักกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สำนักงานซอยสวนพลู กรุงเทพฯ ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อติดตามตรวจสอบแนวทางการดูแลและคุ้มครองเด็กของเจ้าหน้าที่วิชาชีพให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยรายงานดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลเชิงสภาพการณ์ทั่วไปในการดูแลและคุ้มครองเด็ก การขึ้นทะเบียนประวัติ การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สภาพความเป็นอยู่ภายในสถานกักกัน และการผลักดันส่งกลับ ทั้งนี้พบว่าเด็กต่างชาติไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมตามหลักสิทธิเด็ก เช่น เด็กถูกจับแยกและส่งกลับโดยไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองอยู่ด้วย การขึ้นทะเบียนประวัติเด็กเป็นอาชญากร(ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย) ขาดบริการพื้นฐานที่จำเป็นทางด้านสุขอนามัยและสวัสดิภาพเด็ก และการไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนยุติธรรมกรณีที่เด็กถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ