ความต้องการเครื่องบินเพิ่มสูงถึงกว่า 29,000 ลำในอีก 20 ปีข้างหน้า ในอนาคตประชากรมีแนวโน้มที่จะใช้การเดินทางทางอากาศมากขึ้น

ข่าวท่องเที่ยว Friday September 27, 2013 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--TQPR Thailand ขณะที่อุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันสามารถเข้าถึงทุกภูมิภาคของโลก เหล่าประชากรก็มีแนวโน้มที่จะใช้บริการเดินทางทางอากาศไป-กลับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจากการพยากรณ์ทางการตลาดโลกหรือ โกลบอล มาร์เก็ต ฟอร์คาสต์ (GMF) ล่าสุดจากแอร์บัส รายงานว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (ระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2575) อัตราการเดินทางทางอากาศจะเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 4.7 ต่อปีก่อให้เกิดความต้องการเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์และเครื่องบินขนส่งรุ่นใหม่มากกว่า 29,220 ลำ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์กว่า 28,350 ลำ มูลค่าถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและเครื่องบินประหยัดเชื้อเพลิงจำนวน 10,400 ลำจะถูกนำมาแทนที่เครื่องบินรุ่นเก่า นั่นหมายความว่าฝูงบินที่มีในปัจจุบันประมาณ 17,740 ลำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 36,560 ลำภายในปี พ.ศ. 2575 ตอกย้ำแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งมอบเครื่องบินใหม่ ความเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง ขีดความสามารถในการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น การเดินทางที่สะดวกสบาย ชุมชนเมือง การท่องเที่ยวและการย้ายถิ่นฐานจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างประชากร ภูมิภาคและความถี่ในการเดินทางเข้าไว้ด้วยกัน โดยการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนขึ้นของเมืองมหานครจาก 42 แห่งในปัจจุบันเป็น 89 แห่งภายในปี พ.ศ.2575 และการเดินทางพิสัยไกลถึงร้อยละ 99 ทั่วโลกจะให้บริการผ่านเมืองดังกล่าว อัตราการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นจะนำไปสู่ความต้องการเครื่องบินโดยเฉพาะรุ่นที่มีขนาดใหญ่ ‘เพิ่มขึ้น’ คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณงานผลิตเครื่องบินในมือ โดยเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง เอ380 ที่มีพิกัดบรรทุกมากขึ้นจะสามารถใช้ประโยชน์จากสล๊อตเวลาที่มีจำกัดและรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นได้โดยไม่ต้องมีการเพิ่มเที่ยวบินดังที่ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ได้ประกาศก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นการให้ความสำคัญในเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน มีผลให้อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงและเสียงรบกวนลดลงถึงร้อยละ 70 ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาและยังคงดำเนินต่อไปด้วยการนำเครื่องบิน อาทิ เอ320นีโอ เอ320 ติดตั้งชาร์คเล็ต เอ380 และเอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี มร.จอห์น เลฮีย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการลูกค้าสัมพันธ์แอร์บัส กล่าว “ภายในปี พ.ศ.2575 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีอัตราการเดินทางทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น นำหน้ายุโรปและอเมริกาเหนือ ปัจจุบัน 1 ใน 5 ของประชากรในภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่เดินทางด้วยเครื่องบินโดยฉลี่ย 1 ครั้งต่อปีและภายในปี พ.ศ.2575 จะมีการขยายตัวขึ้นถึง 2 ใน 3 ซึ่งการที่ประชากรนิยมเดินทางทางอากาศมากขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าด้วยเช่นกันจาก 2,900 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 6,700 ล้านคนภายในปี พ.ศ.2575 แสดงให้เห็นบทบาทอันสำคัญของอุตสาหกรรมการบินในการเติบโตทางเศรษฐกิจ” กระแสการเดินทางภายในประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยการเดินทางทางอากาศภายในประเทศอินเดีย มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด เกือบร้อยละ 10 ตามด้วยจีนและบราซิล ร้อยละ 7 โดยการเดินทางทางอากาศเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 5.5 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีความต้องการเครื่องบินโดยสารใหม่สูงถึงร้อยละ 36 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 20 และอเมริกาเหนือ ร้อยละ 19 ในตลาดของเครื่องบินขนาดใหญ่มาก (VLA: Very Large Aircraft ) อย่าง เอ380 จะมีความต้องการเครื่องบินโดยสารถึง 1,334 ลำ คิดเป็นมูลค่าถึง 519,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการเครื่องบินนี้มากที่สุดถึงร้อยละ 47 ตามมาด้วยตะวันออกกลาง ร้อยละ 26 และยุโรป ร้อยละ 16 ซึ่งความต้องการเครื่องบิน เอ380 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นผลมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางภายในภูมิภาค โดยมีการคาดการณ์ว่าการเติบโตดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น 4 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ในส่วนของเครื่องบินทางเดินคู่ เช่น เอ330 และเอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี จะมีความต้องการถึง 6,779 ลำ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นความต้องการจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึงร้อยละ 48 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 15 และตะวันออกกลาง ร้อยละ 13 20 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการเครื่องบินทางเดินเดี่ยวถึงร้อยละ 71 หรือ 20,242 ลำ คิดเป็นมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะมีความต้องการเครื่องบินถึงร้อยละ 34 ตามมาด้วยอเมริกาเหนือและยุโรป ร้อยละ 23 โดยความสำเร็จของสายการบินต้นทุนต่ำทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกาช่วยเปิดตลาดการบินใหม่รวมถึงให้โอกาสประชากรจากภูมิภาคดังกล่าวสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ ซึ่งสายการบินต้นทุนต่ำจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 21 ภายในปี พ.ศ. 2575 ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ เมธาวรินทร์ มณีกูลพันธ์/ ธัญธิดา ธรรมครูปัตย์ + 66 2 260 5820 ต่อ 115/ 120

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ