คร. เตือน ช่วงนี้ ฝนตก-น้ำท่วมขัง ระวัง โรคภัย

ข่าวทั่วไป Monday October 7, 2013 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--โฟร์ พี แอดส์ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคลงพื้นที่บริเวณถนนเจริญนคร ซอย 55 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานครร่วมขบวนรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกกับนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ และได้กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรมว่า ขณะนี้สถานการณ์ไข้เลือดออกทั่วประเทศโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยประมาณ 2,800 รายและคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลงเรื่อยๆ ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้การรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกจะเน้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กๆปิดเทอม เด็กจึงอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกติดต่อกันเกือบทุกวัน อาจมีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกและจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย ทำให้เด็กๆที่อยู่กับบ้านเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดและเป็นโรคไข้เลือดออก จึงขอฝากเตือนไปยังประชาชนขอให้ช่วยกันทำความสะอาดรอบบ้านอย่าให้มีน้ำขัง ภายในบ้านจะต้องช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย และให้ทายากันยุงร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วยกันลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุดในปลายปีนี้ ส่วนปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ขณะนี้ มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำเติมจากปัญหาน้ำท่วม จึงขอฝากเตือนไปยังประชาชนผู้ประสบภัยให้ระวังใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.การเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการจมน้ำตายโดยไม่ทันระวัง โดยควรหลีกเลี่ยงการออกหาปลาเวลากลางคืน งดการดื่มสุรา หรือไม่ไปในที่ที่มีน้ำเชี่ยวและการเดินในบริเวณที่น้ำลึกเพราะอาจเกิดการพลัดตกน้ำได้ ไม่ควรนำเด็กและผู้สูงอายุไปด้วย ถึงแม้จะว่ายน้ำเป็นหรือไม่เป็นต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก เนื่องจากพบว่าการจมน้ำเสียชีวิตส่วนใหญ่ 90% มาจากสาเหตุดังกล่าว และ 2.การเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากไฟดูดหรือไฟช็อต ช่วงที่น้ำท่วมควรถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด สับสวิทช์ไฟฟ้าลง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้าทั้งนอกและในบ้าน เพราะอาจโดนไฟฟ้าดูดได้ ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาด นอกจากโรคตาแดงที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากน้ำสกปรก และหากมีการเดินลุยน้ำต้องระวังเรื่องโรคฉี่หนูและน้ำกัดเท้า ทางที่ดีควรสวมรองเท้าบูทป้องกันเสมอขณะสัมผัสน้ำ และต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดทันทีหลังเสร็จสิ้นการสัมผัสกับน้ำ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากน้ำสกปรกตามมา อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่าโรคที่สำคัญอีกโรคหนึ่งที่อยากให้ระมัดระวังก็คือโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากช่วงนี้อาจมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ปรุงประกอบอาหาร ทำให้มีการปรุงประกอบที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด กินอาหารค้างคืน การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคืออาหารจากผู้ใจบุญที่นำมาบริจาค โดยมาในรูปแบบใส่กล่อง ล่าสุดพบว่าจังหวัดปราจีนบุรีเกิดโรคอาหารเป็นพิษ สาเหตุมาจากการกินข้าวผัดหมูที่มีการทิ้งไว้เป็นเวลานาน แล้วนำมารับประทานจึงทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษขึ้น ด้วยเหตุนี้กรมควบคุมโรคจึงออกมาเตือน และฝากไปถึงประชาชนที่ใจบุญหรือหน่วยงานที่นำอาหารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือผู้ที่เดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ อยากให้อาหารที่นำมานั้นเป็นอาหารชนิดแห้ง เช่น ปลาทอด หมูทอด และข้าวเหนียว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภท ลาบ ยำ พล่าต่าง ๆ และอาหารที่ปรุงประกอบเสร็จแล้วไม่ควรราดบนอาหาร ควรแยกข้าวและอาหารออกจากกันเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน อาหารที่นำมาบริจาคควรบรรจุใส่กล่อง ระบุวันเดือนปีที่ผลิตให้ชัดเจน และควรรับประทานภายใน 4 ชั่วโมง เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสีย และอาจจะเป็นอันตรายแก่ประชาชนได้ “สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษประชาชน ควรยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยการรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ อยู่ในภาชนะที่สะอาดและดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รวมถึงรักษาสุขภาพอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนทานทุกครั้ง และล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาดไม่ควรนำน้ำท่วมมาล้างหรือทำความสะอาดภาชนะ ทั้งนี้หากเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋อง ก่อนปรุงควรสังเกตวันหมดอายุ หรือสภาพ สี กลิ่น กระป๋องต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีสนิม หรือโป่งพองในส่วนใด ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่ว และเมื่อเปิดแล้วต้องนำมาใส่ภาชนะอื่นก่อน แล้วทำการอุ่นให้เดือดประมาณ 5 นาที ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ และหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ