“อาชีวะ” ขออาสา สอนน้อง “ตัด-เย็บ-ประดิษฐ์” เครื่องใช้จากผ้า ปลูกจิตสำนึก“รักท้องถิ่น”พัฒนาทักษะอาชีพ-เพิ่มรายได้ให้ชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday October 11, 2013 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์ “เด็กอาชีวะ” เป็นคำเรียกนักศึกษาของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่มักจะมาพร้อมกับภาพของการ “ยกพวกตีกัน” ทั้งๆ ที่ภาพในทำนองนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวน้อยนิดของเยาวชนทั้งหมดที่มุ่งหวังศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแรงงานด้านวิชาชีพสาขาต่างๆ เพื่อรองการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “เด็กอาชีวะ” กลุ่มหนึ่งที่พก “เข็ม ด้าย กรรไกร และจักรเย็บผ้า” บุกตะลุยเข้าไปในหมู่บ้านทุรกันดารกลางป่าลึก เพื่อนำ “ความรู้และทักษะ” ในสาขาวิชาชีพที่ตนเองมี ไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่ ให้ได้มี “อาชีพเสริม” เพิ่มรายได้จากงานประจำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ“พัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเด็กด้วยโอกาสในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี” โดยการนำของ “นางเบญจวรรณ บุ้งทอง” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. นางเบญจวรรณ บุ้งทอง ครูสอนดีจาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เปิดเผยว่า ในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะพื้นที่ในความรับผิดชอบของ “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สีชมพูห่างไกลความเจริญ ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังคงมีฐานะที่ยากจน และมีความต้องการทักษะอาชีพเสริมในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาโดยชวนนักศึกษาแกนนำที่มีจิตอาสา มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และทักษะอาชีพต่างๆ ที่ตนเองได้ร่ำเรียนมาให้กับครู เด็กนักเรียน และกลุ่มแม่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ห่างไกล “เด็กนักเรียนจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แม่บ้าน และครู ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการประกอบอาชีพในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถผลิตผลงานที่ไม่ซ้ำกัน โดยทางวิทยาลัยอาชีวฯ จะทำหน้าที่ประสานในเรื่องของตลาดให้” ครูเบญจวรรณกล่าว การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้จะมุ่งเน้นการฝึกทักษะอาชีพ การตัดเย็บเสื้อผ้า, การประดิษฐ์ของใช้ภายในบ้าน, การประดิษฐ์ของที่ระลึกจากผ้า และการประกอบอาหาร-แปรรูปอาหาร ให้กับกลุ่มครู กลุ่มแม่บ้าน และนักเรียน จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 4 แห่งคือ รร.ตชด.บ้านนาชมพู, รร.ตชด.บ้านห้วยเวียงงาม, รร.ตชด.บ้านเทพภูเงิน และ รร.ตชด.บ้านเมืองทอง ในพื้นที่ของอำเภอนายูง และอำเภอน้ำโสม จำนวนกว่า 170 คน ให้มีความรู้และทักษะในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายเสริมเพิ่มมูลค่าจาก “วัตถุดิบ” และ “ผ้าทอ” ในท้องถิ่นของตนเองได้ โดยในแต่ละครั้งของการลงพื้นที่ก็จะมีนักศึกษาอาชีวะที่เป็นแกนนำจำนวนกว่า 40 คน ในทุกระดับชั้น สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงไปให้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในหลากหลายสาขาอาชีพสู่ชุมชน ไม่เพียงแต่การให้ความรู้ในเรื่องของทักษะอาชีพในเชิงช่างจากการตัดเย็บหรือประดิษฐ์ของใช้จากผ้าหรือการประกอบอาหารต่างๆ แล้ว ยังมีการให้ความรู้ในเรื่องของการจัดทำ “บัญชีครัวเรือน” อีกด้วย ด.ต.กิตติคุณ คำปิ่น รักษาราชการแทนครูใหญ่ รร.ตชด.บ้านนาชมภู กล่าวว่ากิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้มีประโยชน์มากสำหรับชุมชนของเราซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ชนบท เพราะเมื่อใดที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำสวนก็สามารถ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์นำมาประกอบอาชีพเสริมต่างๆ เหล่านี้ได้ “ผลิตภัณฑ์ที่ทำได้จากการฝึกสอนแต่ละครั้ง ทางวิทยาลัยอาชีวอุดรธานีฯ จะเป็นผู้ประสานเรื่องตลาด แล้วก็สอนในเรื่องของระบบบัญชีครัวเรือนด้วย โดยเราจะเป็นศูนย์กลางให้โรงเรียน ตชด.ทั้ง 4 แห่งมาฝึกอาชีพ เด็กๆ ก็จะได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเกิดทักษะอาชีพที่จะติดตัวไปตลอด เมื่อเกิดความชำนาญแล้วก็สามารถทำอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต” ด.ต.กิตติคุณกล่าว จ.ส.ต.หญิง.สุรชัย แสงคำ ครู ตชด.จาก รร.บ้านเมืองทอง ที่พาคณะครู เด็กนักเรียน และแม่บ้าน มาร่วมฝึกฝนการประดิษฐ์กล่องเอนกประสงค์จากผ้าทอมือกล่าวว่า เมื่อครูได้มีความรู้แล้วก็จะนำไปสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่อไป แล้วก็ถ่ายทอดต่อให้กับกลุ่มแม่บ้านไปทีละกลุ่มๆ เมื่อเกิดความชำนาญแล้วก็จะประสานกับทางคุณครูเบญจวรรณในเรื่องตลาดต่อไป “ประโยชน์ของกิจกรรมนี้ก็คือ เด็กได้ฝึกทักษะฝีมือด้านงานประดิษฐ์ มีรายได้ แบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน แล้วก็มีความรับผิดชอบในตัวเอง เมื่อเด็กมีรายได้ก็จะไปเกี่ยวโยงกับโครงการสหกรณ์ในโรงเรียนด้วย เด็กๆ ก็จะมีการออมทรัพย์จากรายได้ของตัวเอง ซึ่งต่อไปก็อาจจะพัฒนาเป็นรายได้ในครอบครัว เพราะกลุ่มแม่บ้านก็ให้ความสนใจกันมาก” คุณครูสุรชัยกล่าว นายโยธิน ชมพูวิเศษ หรือ “โย” นักศึกษา ปวส.ชั้นปีที่ 2 สาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชุมชนมากว่า 20 แห่ง บอกว่าถึงแม้การเดินทางแต่ละแห่งจะยากลำบาก แต่ก็ชอบที่จะออกมาทำงาน เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้และพบกับประสบการณ์ที่ดีแล้ว ยังรู้สึกสนุกที่ได้ใช้ความรู้ด้านการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีในการช่วยเหลือคนที่ลำบากยากจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น “พวกผ้ากันเปื้อน กล่อง หรือกระเป๋า จะทำได้ง่ายที่สุด พอเห็นน้องๆ ตั้งใจและทำได้เราก็มีความสุข ก็ยิ่งทำให้เราอยากที่จะถ่ายทอด อยากที่จะสอนมากขึ้น” น้องโยกล่าว นางสาวฆัณทิมา ปาปักโข หรือ “บุ๋ม” เพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกันเล่าว่า ลงพื้นที่ไปช่วยฝึกสอนน้องๆ และชาวบ้านมาตั้งแต่เรียนปี 1 แรกๆ ก็กลัวความลำบาก แต่เมื่อพอได้มาทำแล้วกลับรู้สึกสนุกและมีความสุขเมื่อเห็นน้องๆ และกลุ่มแม่บ้านสามารถผลิตชิ้นงานที่ตัวเองสอนได้จนสำเร็จ “รู้สึกภูมิใจที่ความรู้ที่เรามีเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่ด้อยโอกาส และกลุ่มแม่บ้านที่สามารถช่วยให้เขามีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มขึ้น และอยากจะเห็นแต่ละชุมชนได้มีการพัฒนารวมกลุ่มกันผลิตเป็นสินค้า OTOP จำหน่ายเพื่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน” น้องบุ๋มกล่าว “กิจกรรมต่างๆ จะทำให้นักศึกษาจะได้มีทักษะ เกิดจิตอาสาที่จะช่วยเหลือชุมชน มีใจรักที่จะสอนอาชีพให้กับชุมชน ในภายภาคหน้าเมื่อเขาเติบโตไปเขาจะได้เข้าใจการอยู่ร่วมกับสังคม มีชีวิตที่ดีงาม เป็นเยาวชนที่ดีของชาติต่อไป แล้วอยากให้กลุ่มครู นักเรียน แม่บ้าน เยาวชนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 4 แห่ง มีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน ให้เกิดความยั่งยืน ชาวบ้านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง สามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ ส่งออกสู่ท้องตลาด” ครูเบญจวรรณกล่าวสรุป
แท็ก ประดิษฐ์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ