นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานบูรณาการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมทุกด้าน ย้ำเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาโดยด่วน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 16, 2013 17:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย 46 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมห่วงใยผู้ประสบภัยมีข้อสั่งการเชิงนโยบายให้แบ่งมอบภารกิจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงาน ให้ชัดเจน เพื่อบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกรูปแบบไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ย้ำให้เร่งสำรวจความเสียหายทันทีโดยไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ครอบคลุมตามหลักเกณฑ์และระเบียบกระทรวงการคลังฯ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 46 จังหวัด 353 อำเภอ 2,198 ตำบล 17,345 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,115,193 ครัวเรือน 3,648,383 คน คิดเป็นร้อยละ 5.66 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ บ้านเรือนเสียหาย 31,523 หลัง ถนน 5,967 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,571,038 ไร่ ปศุสัตว์ 4,145,224 ตัว ผู้เสียชีวิต 65 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด นยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด 86 อำเภอ 556 ตำบล 3,958 หมู่บ้าน 226,766 ครัวเรือน 650,084 คน คิดเป็นร้อยละ 1.01 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ อพยพ 3,586 ครัวเรือน 7,376 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ทั้งนี้ จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์อุทกภัยและเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีข้อสั่งการเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) การแบ่งมอบภารกิจในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้ 1.ด้านการระบายน้ำ ให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด 2.ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและจัดหาน้ำดื่มสะอาด ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการสนับสนุนการดำเนินการแก่จังหวัดที่ประสบภัย 3.ด้านการฟื้นฟูเส้นทางคมนาคม มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยทหารเร่งดำเนินการซ่อมแซมถนนและสะพานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้สามารถใช้งานได้ 4.ด้านการปิดล้อมพื้นที่สำคัญ ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยทหาร และจังหวัดจัดทำแนวกั้นน้ำ เพื่อป้องกันมิให้พื้นที่สำคัญได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ เขตชุมชน และเส้นทางคมนาคมหลัก 5.ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยทั้งที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือน ศูนย์พักพิงชั่วคราวและจุดอพยพ 6.ด้านการสำรวจความเสียหาย มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานดำเนินการสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของบ้านเรือน ทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตร 7.ด้านสุขภาพอนามัย ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพอนามัยทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจของประชาชน ในพื้นที่ประสบภัย และ 8.ด้านการช่วยเหลืออื่นๆ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ดำเนินการวางหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมการดำเนินงานในทุกด้าน 2) การแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้ชัดเจน โดยให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรมการทหารช่าง และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย บูรณาการการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยนำการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกรูปแบบครอบคลุมดำเนินงานทั้ง 8 ด้าน ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ให้วางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนและสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานให้ส่งเสริมอาชีพระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เลี้ยงชีพในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยยังไม่คลี่คลาย นายฉัตรชัย กล่าวถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับจังหวัดสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยในทันที โดยไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด เพื่อจัดทำฐานข้อมูล ความเสียหาย แนวทางและหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบโดยทั่วกัน โดยให้จัดทำเป็นประกาศจังหวัดในเขตพื้นที่ประสบภัยที่ประชาชนได้รับความเสียหายและผลกระทบ ซึ่งจะทำให้การสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเสียหายเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วถึง เป็นธรรม และครอบคลุมตามหลักเกณฑ์และระเบียบกระทรวงการคลังฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ