เกษตรฯ รับมอบหญ้าพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ พร้อมปล่อยคาราวานหญ้าพระราชทาน กว่า 200 ตัน

ข่าวทั่วไป Thursday October 24, 2013 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรฯ รับมอบหญ้าพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ พร้อมปล่อยคาราวานหญ้าพระราชทาน กว่า 200 ตัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีรับมอบหญ้าพระราชทานในโครงการศึกษาพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และปล่อยคาราวานหญ้าพระราชทานฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ณ ศาลาจัตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรเป็นบริเวณกว้าง กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีปล่อยขบวนคาราวานเสบียงอาหารสัตว์ (หญ้าแห้ง)พระราชทานในโครงการศึกษาพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หญ้าสด 150 ตัน และหญ้าแห้งอีกจำนวน 50 ตัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี รวมทั้งเร่งเตรียมเสบียงสัตว์เพิ่มเติมจากสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจยังคงมีฝนตกต่อไปอีก “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทรงพระราชทานหญ้าจากการดำเนินงานในโครงการศึกษาพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งได้มีกระแสรับสั่งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมปศุสัตว์ ทำการศึกษาพัฒนาระบบการผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในความรับผิดชอบของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา ในพื้นที่กว่า 150 ไร่ แบ่งเป็นแปลงพืชอาหารสัตว์ 110 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ อีก 43 ไร่ ทั้งยังมีพืชอาหารสัตว์หลากหลายชนิด เช่น กระถิน หญ้าแพงโกล่า หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นต้น ทำให้ได้ผลผลิตพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี มีปริมาณมากเพียงพอสำหรับการผลิตเสบียงสัตว์สำรองไว้ช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดภัยพิบัติ และพื้นที่ของโครงการดังกล่าว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เทคนิคการผลิตอาหารสัตว์สำหรับนิสิต นักศึกษา ประชาชน เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งได้ ดำเนินการเมื่อครั้งมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 และเริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันด้วย” นายยุคล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ