คปก.เสนอวุฒิสภายับยั้งร่างฯนิรโทษกรรม ชี้ขัดต่อกระบวนการตราพ.ร.บ.- รธน.

ข่าวทั่วไป Friday November 8, 2013 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏฺิรูปกฎหมาย นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า วุฒิสภาควรยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ก่อนและส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการให้ตกไป อีกทั้งเมื่อมีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว รัฐบาลและรัฐสภาควรแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแน่วแน่ในการสร้างความปรองดอง โดยการนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.) มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และนำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่เคยเสนอไว้ว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมชอบที่จะดำเนินกระบวนการอื่น ๆ เสียก่อน เช่น การใช้มาตรการตามกระบวนการยุติธรรมปกติเพื่อสร้างความเป็นธรรม การค้นหาความจริง การยอมรับความผิด การขอโทษ การให้อภัย การชดใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การปฏิรูปสถาบัน และการป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีก คปก.มีความเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 ขัดกับกระบวนการตราพระราชบัญญัติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ข้อ 117 และข้อ 123 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134 นอกจากนี้คปก.เห็นว่า การนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ไม่ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองอันควรได้รับการนิรโทษกรรม และขัดต่ออนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ประกอบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 82 และการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตโดยปราศจากเงื่อนไข ย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 และนโยบายสหประชาชาติที่ระบุไว้ในเอกสารบันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติในการกำหนดระเบียบด้านการนิรโทษกรรม คปก.จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ