"การจัดสรรคลื่นความถี่แบบพลวัต" เทคโนโลยีพลิกโลก

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 12, 2013 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จ ปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกของโลก DSA Global Summit 2013 ภายใต้แนวคิด “The Dawn of Spectrum Abundance” ว่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ การจัดสรรคลื่นความถี่แบบพลวัต หรือ Dynamic Spectrum Allocation โดยกลุ่มพันธมิตร Dynamic Spectrum Alliance (DSA) ร่วมกับ กสทช. ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องฟินิกซ์ บอลล์รูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีล่าสุดที่เรียกว่า “Dynamic Spectrum Allocation” หรือ การจัดสรรคลื่นความถี่แบบพลวัต เกิดขึ้นจากกลุ่มพันธมิตรที่เป็นการรวมตัวกันของทั้งภาครัฐและเอกชนยักษ์ใหญ่จากนานาประเทศ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Dynamic Spectrum Alliance (DSA)” ประกอบด้วย USAID ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐของสหรัฐอเมริกา FCC มหาวิทยาลัย Cambridge ในลอนดอน รัฐบาลสิงคโปร์ บริษัท Microsoft บริษัท Google จากสหรัฐอเมริกา และอีกหลายองค์กรและบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี WIFI เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้กันอย่างแพร่หลาย ให้ความสะดวกสบาย แต่ยังมีปัญหาสัญญาณหลุดบ่อยๆ เมื่อมีผู้ใช้เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ทราบไหมว่าในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังจะมี Super WIFI เกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยี “Dynamic Spectrum Allocation” หรือ การจัดสรรคลื่นความถี่แบบพลวัต จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อเด่นของระบบการจัดสรรคลื่นแบบพลวัตนี้คือ เทคโนโลยีตัวนี้จะสามารถวิ่งไปจับคลื่นความถี่ที่ว่างอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยความเร็วแบบ Super WIFI ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ได้สะดวกยิ่งขึ้น และในราคาที่ไม่แพง ในอนาคต เราอาจไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดมาจัดสรรคลื่นความถี่อีกต่อไป เพราะในปัจจุบันการประมูลคลื่นทำให้เกิดการจำกัด ทั้งผู้เล่นและคลื่นความถี่ ซึ่งถือว่าอยู่ในระบบผูกขาดมานาน และถ้าคลื่นความถี่ไม่ต้องมีการประมูลจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ไม่ต้องจำกัดคลื่น เราจะมีคลื่นความถี่มาใช้ได้มากขึ้น คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น แบ่งสรรกันได้มากขึ้น และโลกกำลังจะถูกเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีที่จะสามารถจัดการเรื่องราวเหล่านี้ให้เราได้อย่างสมบูรณ์แบบ การที่เราอยู่ในระบบผูกขาดและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ลองคิดดูว่า ถ้าผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากผู้ที่ได้รับสัมปทานทุกรายอย่างเต็มที่ ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายอาจถูกลงกว่านี้ คลื่นความถี่ที่ได้ถูกจัดสรรออกไปให้กับผู้ได้รับสัมปทานแต่ละรายอาจถูกเก็บไว้ หรือจำกัดไว้ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เต็มศักยภาพ แต่ในอนาคต เราจะได้เห็นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง เราจะไม่มีเฉพาะแค่โทรศัพท์ สมาร์ทโฟน ทีวีดิจิทัล อินเทอร์เน็ต หรืออื่นๆ ชีวิตเราทุกวันนี้กำลังจะเปลี่ยนเป็นโลกของ Internet of Things ที่ทุกอย่างจะสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไม่จำกัด จะทำให้ความต้องการในการใช้คลื่นความถี่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน การศึกษา การรักษาความปลอดภัย การสันทนาการ เกม คอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งการแพทย์ ในอนาคตเราจะมียารุ่นใหม่ (ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นทดลอง) ที่สามารถส่งข้อมูลกลับมายังแพทย์ผู้รักษา ให้สามารถติดตามการรับประทานยาของคนไข้ได้ เมื่อคนไข้ทานยาเข้าไปข้อมูลในยาจะส่งผลไปยังหน้าจอสมาร์ทโฟนของแพทย์ บอกให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยทานยาตรงเวลาหรือไม่ และสามารถทำให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิวัฒนาการเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่สามารถเข้ามาช่วยได้ในหลากหลายมิติของชีวิตเรา ดังนั้น การอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ได้อย่างเสรี และไม่มีข้อจำกัดจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร อย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา เริ่มมีการตื่นตัวและนำระบบ Dynamic Spectrum Access มาใช้กันแล้ว ตัวอย่างเช่นที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่กันมานาน ก็มีการทดลองนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กันแล้ว ล่าสุด ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ยาวไกลที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา จึงได้ริเริ่มทดลองใช้คลื่นความถี่ในช่อง TV White space กับระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้เข้าถึงการเรียนการสอนมากขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายเพิ่มในราคาแพง ในแถบเอเชียของเราก็มีประเทศสิงคโปร์ ที่ประกาศตัวเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เริ่มใช้ Super WIFI ที่ว่านี้ว่ากันว่าปี 2557 จะเป็นปีทองของ TV White Space กันเลยทีเดียว ทั้งนี้ การที่เราใช้ระบบจัดการคลื่นความถี่แบบพลวัต หรือ Dynamic Spectrum Allocation จะช่วยให้เราเข้าถึงคลื่นความถี่ได้อย่างรวดเร็วในราคาที่ถูกลง และมองว่าน่าจะหมดยุคของการใช้คลื่นความถี่แบบเดิมๆ แล้ว เพราะระบบการจัดสรรคลื่นความถี่แบบพลวัตกำลังจะเปลี่ยนโลก ซึ่งเรื่องราวของเทคโนโลยีแบบใหม่นี้ เรากำลังจะมีการจัดสัมมนาขึ้นเพื่อให้ความรู้กับทุกคน เน้น “ทุกคน” เพื่อให้มีความเข้าใจกับระบบใหม่ที่มีประโยชน์ สัมมนานี้จะจัดขึ้นโดยกลุ่มพันธมิตร Dynamic Spectrum Alliance (DSA) ร่วมกับ กสทช. ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 นี้ ณ ห้องฟินิกซ์ บอลล์รูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงาน Global Summit on Dynamic Spectrum Access ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดระดับโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “The Dawn of Spectrum Abundance” เชิญหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบที่มีหัวคิดก้าวหน้า นักวิชาการชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนักธุรกิจที่เป็นผู้บุกเบิกมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับอนาคตอันน่าทึ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการเข้าถึงสเปกตรัมแบบไดนามิก กลุ่มพันธมิตร DSA เป็นเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกที่มีสมาชิกเป็นบริษัทและองค์กรในแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ โดย DSA ให้การสนับสนุนในด้านเทคนิค กฎระเบียบข้อบังคับ และนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจที่สามารถลดค่าใช้จ่ายของการใช้เครือข่ายไร้สายแบบบริการโครงข่ายปลายทาง และช่วยให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบรอดแบนด์ไร้สายสามารถทำได้ในราคาไม่แพงสำหรับคนทั่วโลก ทั้งนี้ คลื่นความถี่ไร้สาย (Wireless spectrum) เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย ไล่ไปตั้งแต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต้นทุนต่ำสำหรับประชากรที่มีความหลากหลายทั่วโลก ไปจนถึงการที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตสำหรับเรื่องต่างๆ ได้รับความนิยมยิ่งๆ ขึ้น แต่ทว่าความท้าทายนี้มีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นโดยกฎระเบียบซึ่งมีการจำกัดการใช้คลื่นความถี่ไร้สายที่มีอยู่ ซึ่ง ณ วันนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้น นโยบายการใช้คลื่นความถี่ใหม่จะต้องคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนนี้ รวมถึงสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและความท้าทายของการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลยังต้องทำงานสอดประสานกันในระดับโลกเพื่อให้นโยบายการเข้าถึงคลื่นถึงวามถี่แบบพลวัตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การประชุมสุดยอด DSA Global Summit 2013 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะหาไม่ได้อีกแล้วที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ค้นพบศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว และจะได้เรียนรู้รูปแบบของกฎระเบียบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทวีปอัฟริกา เอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ ซึ่งจะทำให้เรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวมาเกิดขึ้นได้จริง ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงจะมาแสดงให้เห็นว่า DSA จะช่วยสนับสนุนรัฐบาล ธุรกิจและชุมชนให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีผู้คนพลุกพล่านและในชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไป ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเข้าฟังโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ http://www.amiando.com/DSA-Conference.html# (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด และมีล่ามแปลภาษาตลอดงาน) ติดตามข้อมูลของงานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dynamicspectrumalliance.org/summit.html
แท็ก กสทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ