ค่าย...ที่เป็นมากกว่า “ค่าย”

ข่าวทั่วไป Friday November 15, 2013 15:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล นอกจากความเจริญก้าวหน้าที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยี 4G ในปัจจุบันแล้วสิ่งที่ต้องตามให้ทันกับความเจริญคือ การพัฒนาศักยภาพเยาวชนคนรุ่นใหม่สร้างภาวะความเป็นผู้นำที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพ หรือ Active Citizenพร้อมปลูกฝังการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเสริมศักยภาพเยาวชนให้กลับไปดูแลชุมชนตัวเองอย่างยั่งยืน การรณรงค์ให้เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องดี แต่ทำอย่างไรให้เยาวชนเข้าถึงแก่นแท้ของการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทำค่ายส่วนใหญ่มองข้ามไป ดังนั้นการทำค่ายที่ผ่านจึงไม่ต่างอะไรกับการทำอีเว้นท์ ที่ทำแล้วจบไป ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะวัดผลความรู้และสิ่งที่จะนำมาต่อยอดได้ นางสาววรรณา เลิศวิจิตรจรัสหรือ “พี่อ้อ” หนึ่งในผู้ออกแบบกระบวนการค่ายโครงการปลูกใจรักษ์โลกปีที่ 2 กล่าวว่า ค่ายปลูกใจรักษ์โลกไม่ใช่การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมแบบท่องจำแต่เป็นการเรียนรู้รูปแบบการใช้ความคิด เน้นปลูกฝังให้เยาวชนใช้ความคิดให้รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ด้วยการให้เยาวชนคิดเองว่าถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อมแล้วอะไรจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบอย่างไรโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวให้พวกเขาเห็นปัญหาด้วยตัวเองดีกว่าให้คนอื่นบอก “ภาพวาดแผนที่ชุมชนถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนรู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น ทั้งในเรื่องปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้น และความเกี่ยวข้องของปัญหากับตัวเองอีกทั้งยังทำให้เยาวชนเห็นต้นทุนในพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย ซึ่งการพาเยาวชนคิดวิเคราะห์แผนที่ชุมชนที่วาดขึ้นมาเองเช่นนี้ทำให้เยาวชนเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนพี่เลี้ยงก็มีหน้าที่แนะแนวทางแก้ปัญหา บนฐานศักยภาพและกำลังของแต่ละคนที่สามารถนำกลับไปทำได้จริง” นางสาววรรณากล่าวต่อว่า กระบวนการที่ออกแบบไว้ตนคาดหวังว่าเด็กจะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะการตั้งคำถามให้เขาได้ฉุกคิด เวทีอาจจะเป็นครั้งแรกของเยาวชนหลายๆคนที่เขาคิดโดยที่เราไม่ได้บอกเขาแต่ว่าในครั้งต่อไปเชื่อว่าพวกเขาจะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ปรับใช้ในชีวิตประจำวันเวลาที่เจอปัญหาจะได้คิดว่าเราเคยตั้งคำถามนี้กับเขาแล้ว อย่างไรการออกแบบกระบวนการค่ายเช่นนี้นอกจากเยาวชนจะได้ความรู้แล้ว ตัวพี่เลี้ยงหรือผู้ออกแบบกระบวนการเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน “กระบวนการสันทนาการถ้าออกแบบดีๆ นอกจากจะสร้างอารมณ์ ความสนุก และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังสามารถไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้อีกด้วย โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่า “พี่เลี้ยง” คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน เป็นฟันเฟืองที่ช่วยผลักดันโครงการให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการทำหน้าที่เป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างเยาวชนและชุมชนเพื่อให้เกิดการร่วมมือกันทำงาน นอกจากนี้พี่เลี้ยงที่ดีต้องรู้จักเฝ้าสังเกตและเข้าไปเติมเต็มเยาวชนผ่านการพูดคุยและให้กำลังใจ ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่า winwinด้วยกันทั้งคู่” ด้านนายกิตติพงษ์ ภาษี หรือ “พี่เปเล่”พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนก่อการดี จังหวัดเลยเล่าว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการปลูกใจรักษ์โลกได้ชวนน้องๆ พูดคุยเรื่องการเขียนโครงการการมองปัญหาในพื้นที่มาบ้างแล้ว แต่เมื่อได้เข้าร่วมกระบวนการนี้ทำให้น้องๆ เยาวชนเห็นปัญหาในชุมชนจัดเจนยิ่งขึ้น ได้วิธีการคิดใหม่ ๆ แต่สิ่งที่ได้มากที่สุดคือ “ทักษะการพี่เลี้ยง” ที่ต้องใจเย็นๆ นั่งฟังความคิดเห็นของเยาวชน โดยที่ยังไม่เฉลยความคิดเห็นของเราให้เยาวชนรับรู้ก่อน เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้คิดวิเคราะห์ชุมชนด้วยตัวเอง “กระบวนการที่นำมาใช้ในโครงการปลูกใจรักษ์โลกที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นั้นมีจุดเด่นสำคัญคือ มี6 ภาคีเครือข่ายองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ 1.สมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) 2.สมาคมป่าชุมชนอีสาน 3.กลุ่มไม้ขีดไฟ 4.กลุ่มหุ่นไล่กา 5.ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชน เพื่อคนกับป่า และ 6.นักวิชาการอิสระ ซึ่งแต่ละองค์กรมีความสามารถแตกต่างกัน ทำกิจกรรมที่ทำจึงเป็นไปตามความถนัดของแต่ละองค์กร การสร้างกระบวนการเรียนรู้จึงมีหลากหลายรูปแบบและมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโครงการและเยาวชนได้เป็นอย่างดี” ด้านนายธีรวุฒิ ศรีมังคละ หรือ “น้องแสน”พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืนรุ่น 2 หลังจากเข้าร่วมโครงการปลูกใจรักษ์โลก ปี1 มาแล้ว แต่ปีนี้ได้ก้าวเข้ามาในบทบาทใหม่คือพี่เลี้ยง กล่าวว่า การมาเข้าค่ายครั้งนี้ถือเป็นโจทย์แรกที่ท้าทายตนมาก เพราะต้องพัฒนาโครงการให้ชัดว่าโครงการที่ทำมุ่งเป้าไปที่ไหน และมีกระบวนการทำงานอย่างไรเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ กระบวนการค่ายมี “เครื่องมือ” ในการทำงานหลายอย่างที่ตนสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชนได้ ซึ่งตอนนี้ตนเริ่มเห็นบทบาทของตนเองชัดเจนมากขึ้นว่า การเป็น “พี่เลี้ยง” ที่ดีต้องสอนให้เยาวชนคิดเป็นทำเป็น ต้องรู้จักแลกเปลี่ยนมุมมองกับเยาวชน และต้องไม่ยึดติดบทบาทหรือตำแหน่งพี่เลี้ยง และนี่คือภาพความทรงจำของค่ายโครงการปลูกใจรักษ์โลกปี 2 ที่สร้าง “กระบวนการ” เรียนรู้นอกห้องเรียนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ