สอ.จุฬาฯ สัมมนาไตรภาคีวิชาการแน่น แบงค์ชาติชี้แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2557 ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday November 25, 2013 18:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สหประกันชีวิต สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เป็นเจ้าภาพ จัดสัมมนาไตรภาคีวิชาการ “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2557” ประจำปี 2556 โดยร่วมกับ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด และ สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย จำกัด โดยในปีนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์จากทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 300 คน ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินท์ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2556 รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ ประธานกรรมการฯ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เปิดเผยถึง การสัมมนาไตรภาคีในครั้งนี้ว่า โครงการสัมมนาไตรภาคีวิชาการประจำปี เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่าง 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด และ สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย จำกัด โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีการจัดสัมมนาขึ้นในช่วงปลายปีทุกปี โดยปีนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด เป็นเจ้าภาพ และได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อเรื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2557 โดยได้รับเกียรติจาก นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา รวมทั้งมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์...สหกรณ์ออมทรัพย์จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยนายสมชาย ชาญณรงค์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์. นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง "แนวคิดในการปฏิรูปกฎหมายสหกรณ์" โดยนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และการบรรยาย เรื่อง “พลิกโฉมเทคโนโลยีสารสนเทศ สหกรณ์ไทยปี 2557” โดยนายสมศักดิ์ อังศุโกมุทกุล และ นายวิชิต สนธิวณิช จากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ไทยซีที จำกัด นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยปี 2557 จะขยายตัวดีกว่าปี 2556 ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่ารายจ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านบาท จะเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ภาวะการเงินเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศเป็นประเด็นที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ