สสค. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ทุนครูสอนดี” พื้นที่ภาคใต้ จุดประกายแนวคิดการพัฒนาครู สู่การพัฒนาเด็กด้อยโอกาส

ข่าวทั่วไป Thursday November 28, 2013 09:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสมรรถนะครูสอนดีในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุน “ทุนครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ในการทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาส เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ขยายผลไปสู่แนวทางการพัฒนาศักยภาพครูทั่วประเทศ และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กด้อยโอกาส โดย “เวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถนะครูสอนดีภาคใต้” ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดในการนำเสนอผลงานและรายงานความก้าวหน้าของโครงการทุนครูสอนดีจาก 14 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 87 โครงการ ผ่านการศิลปะการแสดงและการล่ะเล่นพื้นบ้านภาคใต้หลายรูปแบบ อาทิ มโนราห์นางรำจิ๋ว, ระบำรองเง็ง, หนังตะลุง, ดิเกร์ฮูลูฯลฯ เพื่อต่อยอดขยายผลองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไปสู่แนวทางการพัฒนาศักยภาพครูผู้ได้รับทุนครูสอนดีในภาคใต้ เพื่อก้าวสู่ทิศทางการจัดการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่น พร้อมโชว์สุดยอดนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส “สวนสัมผัส” ของครูสอนดีจากเมืองกระบี่ ที่สามารถพัฒนาสมรรถภาพเด็กพิเศษทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ รวมถึงยังสามารถสร้างเสริมจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้าโครงการติดตามสนับสนุนชุดโครงการทุนครูสอนดี เปิดเผยว่าปัจจุบันมีครูกว่า 530 คนจากทั่วประเทศที่ได้รับสนับสนุนทุนครูสอนดี ซึ่งได้ผ่านการดำเนินงานมาแล้วครึ่งทาง โดย สสค. มีเงื่อนไขว่าจะต้องพัฒนาสมรรถนะครู เพื่อฉายภาพงานเดิม ต่อภาพงานใหม่ ในเวลาที่เหลือนับจากนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในภายหน้า จึงได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5 ภูมิภาค 1.ภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ 2.ภาคใต้ที่จ.กระบี่ 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ จ.อุดรธานี 4.ภาคกลางที่จ.เพชรบุรี 5.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกที่จ.ชลบุรี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกระบวนการทำงาน ไปพร้อมกับการกระตุ้นกระแสสังคมให้เห็นผลงานของครู เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนที่ทำงาน “ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ทุนครูสอนดีได้ก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนได้จริง ซึ่งครูแต่ละท่านก็จะเป็นกำลังสำคัญของการจัดการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลและทุรกันดาร สำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยจะเป็นการนำเสนอแนวทางที่จะต่อยอดการดำเนินงานของแต่ละโครงการออกไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้ที่มีความคมชัดและมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ครูแต่ละท่านจะได้นำมาแลกเปลี่ยนถึงผลที่เกิดขึ้นซึ่งกันและกันในเวทีนี้ โดย สสค. ก็จะทำหน้าที่ในการขยายผลด้วยการนำโครงการที่น่าสนใจและโดดเด่นออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคประชาสังคมให้มากยิ่งขึ้น” นายนครระบุ รศ.ดร.จิราภรณ์ ศิริทวี รองหัวหน้าโครงการติดตามสนับสนุนชุดโครงการครูสอนดีในพื้นที่ภาคใต้ ได้กล่าวถึงการจัดเวทีในครั้งนี้ว่า ไม่ได้เน้นในเรื่องของการจัดนิทรรศการ แต่มุ่งหวังให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้มากที่สุด เพราะเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของทั้ง 14 จังหวัด โดยมีเป้าหมายให้ครูได้รู้จักกันให้มากที่สุด และให้แต่ละโหนด(node) นำเสนอภาพสรุปของโครงการออกมาในรูปแบบของการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นนิทรรศการที่มีชีวิตที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้เป็นอย่างดี “ศักยภาพของครูใต้คือมีความตั้งใจ ทำงานด้วยใจ และเอาจริงเอาจังมาก เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนกับตัวเด็ก โดยเฉพาะการทำโครงการต่างๆ เพื่อให้เด็กได้มีอาชีพและมีงานทำภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของครูใต้ก็คือการเป็นนักปฏิบัติ จึงมีปัญหาเรื่องการเขียนเอกสารวิชาการ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญเพราะครูสอนดีคือครูนักปฏิบัติ” รศ.ดร.จิราภรณ์กล่าว ด้านครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จากจังหวัดกระบี่ “นางมะลิวัลย์ รัตนสมบูรณ์” จาก ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกระบี่ ผู้คิดค้นนวัตกรรม “สวนสัมผัส” เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่เกิดจากปัญหาความพิการด้านร่างกายและสติปัญญาเล่าว่า หลังจากได้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งแรกทำให้ได้รับบทเรียนว่าการซื้อสื่อการเรียนการสอนมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้นั้น ยังได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะเด็กๆ จะได้รับการพัฒนาด้านสติปัญญาเพียงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น “เด็กที่พัฒนาแล้วเช่นสามารถเดินได้แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะต่อยอดให้เขาได้อย่างไร เพราะเขายังอยู่แต่ในห้องเรียน จึงรู้สึกว่ายังพัฒนาเขาไม่ได้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาเราพัฒนาได้แต่คุณภาพด้านร่างกาย ส่วนคุณภาพด้านจิตใจและการพัฒนาอารมณ์ยังไม่เกิดขึ้น” ครูมะลิวัลย์กล่าว ด้วยเหตุนี้แนวคิดในการจัดทำ “สวนสัมผัส” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็กทุกคนรวมไปถึงผู้ปกครอง โดยเมื่อมองเผินๆ จะเหมือนกับการจัดภูมิทัศน์ของศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ให้ดูดีขึ้น แต่เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่สร้างประโยชน์ให้กับเด็ก ผู้ปกครอง และครูผู้สอนเป็นอย่างมากในการใช้พื้นที่ในแต่ละส่วนมาประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็ก “อุปกรณ์แต่ละชิ้นในสวนสัมผัสจะมีสภาพพื้นผิวและสีสันที่แตกต่างกัน ที่สามารถช่วยสร้างพัฒนาการให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม ได้พัฒนาร่างกาย พัฒนาสมองและความคิด เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงยังได้ฝึกการใช้ภาษา แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คือความเชื่อมโยงของอุปกรณ์ที่จะช่วยสร้างพัฒนาการให้เด็กได้เป็นลำดับ และยังขาดพื้นผิวสัมผัสที่ครบทุกรูปแบบ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปอีกขั้นโดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากครู ผู้ปกครอง และประสบการณ์จากเพื่อครูในเวทีครั้งนี้เพื่อนำไปพัฒนาสวนสัมผัสต่อไปอีกขั้น” ครูมะลิวัลย์ระบุ เวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถนะครูสอนดีภาคใต้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงเวทีจัดแสดงผลงานของครูสอนดีแต่ละท่าน แต่เป็นเสมือนเวทีระดมความคิดเห็นในการสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาศักยภาพครูทั่วประเทศ และยังจะเป็นเวทีสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่น.
แท็ก ภาคใต้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ