ปภ.จัดประชุมบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี 2557 นายกฯ เน้นย้ำวางมาตรการป้องกันเชิงรุก ควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยงในช่วงวิกฤต

ข่าวทั่วไป Thursday December 12, 2013 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี 2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้จังหวัดบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ เน้นป้องกันและแก้ไขปัญหามิให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเข้มข้น คุมเข้มมิให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยงช่วงวิกฤตหมอกควัน ภายใต้การทำงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ในทุกระดับ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ดับไฟป่ามิให้ขยายวงกว้าง และจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ “ควบคุมไฟป่า”และ “หมอกควันเป็นศูนย์” ในช่วงวิกฤติ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานติดตามสถานการณ์ไฟป่า พบว่า มีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือมักประสบปัญหาหมอกควัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชน ที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้มีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี 2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพภาคที่ 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก และอุตรดิตถ์เข้าร่วมประชุม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการ เชิงนโยบายเน้นย้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1.การป้องกัน (Prevention) เน้นวางมาตรการป้องกันเชิงรุก “ไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยง” พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา งดเว้นการเผาในที่โล่งและพื้นที่เสี่ยงไฟป่า รวมถึงกำหนดห้วงเวลาห้ามเผาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เน้นคุมเข้มพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ พื้นที่การเกษตร ชุมชนและริมข้างทางเป็นพิเศษ 2. การเตรียมความพร้อม (Preparation) เน้นการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเข้มข้น โดยกำหนดพื้นที่เสี่ยงไฟป่าและหมอกควัน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ กำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ภายใต้การบูรณาการในรูปศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ครอบคลุมทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ควบคู่กับการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังไฟป่า ดับไฟป่า และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการเชื้อเพลิง โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พื้นที่ป่าสงวน มอบหมายให้กรมป่าไม้ ส่วนพื้นที่การเกษตร เขตชุมชนและริมข้างทาง มอบหมายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3. การรับมือ (Response) ให้จังหวัดบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันบูรณาการประสานการทำงานที่เป็นเอกภาพ เน้นการปฏิบัติการที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควัน จะได้วางแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความรุนแรง 4.การฟื้นฟู (Recovery) บูรณาการทุกภาคส่วนบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนจากไฟป่าและหมอกควัน หากสถานการณ์รุนแรงให้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ไฟป่าหรือหมอกควัน) พร้อมจัดสรรงบประมาณในการป้องกัน บรรเทาความเดือดร้อน โดยยึดระเบียบกระทรวงการคลังฯ แนวทางการปฏิบัติที่โปร่งใส และเป็นธรรม ทั้งนี้ ขอให้บูรณาการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ “ควบคุมไฟป่า” และ “หมอกควันเป็นศูนย์” ในช่วงวิกฤติ 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ