กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--JGSEE JGSEE จับมือภาครัฐ และเอกชน จัดเวทีระดมความคิดเห็น สนับสนุนนโยบาย ‘พลังงานหมุนเวียน’ ของรัฐบาล หลังไทยประสบวิกฤตราคาน้ำมันแพงต่อเนื่อง พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญเยอรมนีเข้าร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การใช้พลังงานหมุนเวียนจากต่างประเทศ เพื่อหามาตรการผลักดันและขจัดปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคอย่างถูกวิธี หวังนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนถูกสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ “พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานทดแทน”ในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีราคาแพงขึ้นทุกวัน และจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นเช่นนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศไทยเองมีศักยภาพเพียงพอในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งจากพลังงานชีวมวล ไบโอดีเซล เอทานอล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานจากขยะ โดยรัฐบาลได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 0.5% เป็น 8% ภายในปี 2554 แต่การนำพลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานทดแทน มาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิสของไทยยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ซึ่งย่อมจะมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ทางบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ร่วมกับ บริษัท CMP Media (Thailand) จำกัด ได้สัมมนา “ Power Generation from Renewable Energy :Practical Approaches” ขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมีนายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงพลังงานเป็นประธานฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนนักวิจัย ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันหามาตรการหรือวิธีการที่จะแก้ปัญหาให้ถูกจุด รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนถูกสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า “การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ของไทย ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจ ผู้ผลิต และนักวิจัย ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนรับรู้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นอกจากนี้ยังจะได้รับทราบถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและปัญหาในเรื่องของการวิจัยว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งช่วยให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนได้ทราบถึงโอกาสในการลงทุน เทคโนโลยีที่ใช้ ตลอดจนมาตรการในการสนับสนุนอย่างไรที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง” ด้านนายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์แผนและพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐในการขจัดปัญหาและอุปสรรคของพลังงานหมุนเวียน โดยยอมรับว่า “ที่ผ่านมาการใช้พลังงานหมุนเวียนของไทยไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากภาครัฐยังไม่มีนโยบาย ส่งเสริมที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักจะส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงที่น้ำมันมีราคาแพงเท่านั้น พอน้ำมันมีราคาถูกลงก็จะหยุด หรือลดการส่งเสริมลงไป แต่เมื่อรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนขึ้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการให้การส่งเสริมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพลังงานขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรือ roadmap ขึ้น โดยได้กำหนดเป้าหมาย และกิจกรรมที่จะดำเนินการให้มีความชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ เชื่อว่าจะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน และจะสามารถลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม” ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน ได้มีการกำหนดสัดส่วนชัดเจนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จาก 0.5% เป็น 8% ภายในปี 2554 หรือคิดเป็นพลังงานรวมกว่า 15,000 MW โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 2,400 MW , เชื้อเพลิง Biomass จากของเสียหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรและอุตสาหกรรม และ การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากอ้อยมา ผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10% เป็นแก๊สโซฮอล์สำหรับใช้กับรถยนต์แทนน้ำมัน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมัน อาทิ ปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นไบโอดีเซล ซึ่งทั้งหมดนี้ จะคิดเป็นพลังงานทดแทนได้ถึงกว่า 3,600 MW นอกจากนี้ในการจัดทำร่างแผนแม่บทพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ยังได้ระบุถึงมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การส่งเสริมทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยมีสาระสำคัญคือ การส่งเสริมทางด้านอุปสงค์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ การส่งเสริมการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศให้พัฒนาไปสู่เชิงพาณิชน์ และ การส่งเสริมด้านการค้นคว้าวิจัยพลังงานหมุนเวียนทั้งในระดับพื้นฐานและเชิงประยกต์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศ จากเดิมที่ไม่ได้เน้นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่ไม่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนในการผลิตพลังงานจึงค่อนข้างสูง ดังนั้น ภาครัฐจึงได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไว้ในแผนแม่บทพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อขจัดอุปสรรค์ต่างๆ อาทิ ข้อจำกัดทางด้านลงทุน , ข้อจำกัดทางด้านกฎระเบียบในการรับซื้อไฟฟ้า และข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น สำหรับปัญหาเรื่องของต้นทุนการผลิตนั้น ได้มีการกำหนดการจัดลำดับความสำคัญในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแต่ละชนิด ตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริงและความจำเป็นของประเทศ โดยเริ่มจากต้องเร่งพืชน้ำมันทดแทนน้ำมันมากขึ้น เพื่อนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล นอกจากนี้ยังต้องมีการบริหารจัดการทางด้านเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านปริมาณและคุณภาพของเชื้อเพลิง ตลอดจนคำนึงถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ใช้แหล่งวัตถุดิบจากพลังงานหมุนเวียนด้วย เพื่อแก้ปัญหาราคาและการแย้งวัตถุดิบส่วนแก้ปัญหาเรื่องของกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า ปัจจุบันมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตพลังงาน ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมากใหม่ หรือ VSPP โดยจะขยายขนาดการรับซื้อเพิ่มขึ้นจาก 1MW เป็น 6MW เพื่อจูงใจให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนบางประเภทให้เพิ่มขึ้น เช่น พลังงานชีวภาพ และขยะจากชุมชนต่างๆ ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีนั้น นายชวลิต กล่าวว่า “เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา องค์ความรู้ส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาวิจัย และการติดตามผลการใช้งานเทคโนโลยีที่มีอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะต้องมาร่วมมือกันในการปรับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาประยุกต์ให้เข้ากับสภาวะการใช้งานในประเทศ นอกจากนี้ ทางกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังได้จัดสรรเงินงบประมาณสำหรับการค้นคว้าวิจัยไว้ถึงร้อยละ 65 ของเงินงบประมาณเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานทดแทนที่กำหนดทั้งสิ้นกว่า 1,300 ล้านบาท และสามารถขยายเป็น 2,000 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2548 นี้ ได้จัดสรรเงินสำหรับการค้นคว้าวิจัยไว้ถึง 420 ล้านบาท” รศ.ดร. บัณฑิต กล่าวเสริมว่า “ พลังงานหมุนเวียน เป็นแนวโน้มใหม่ที่ควรส่งเสริมให้คนทั่วไปได้รับรู้ รวมถึงแนวทางการแก้ไขของภาครัฐที่จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ โดยในการจัดสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับจากประเทศเยอรมนี เข้ามาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ประชาชนและนำรายได้กลับมาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับนำประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ อาทิ สเปน และอังกฤษ มาเปรียบเทียบถึงนโยบาย และมาตรการส่งเสริมต่างๆ รวมทั้งเพื่อจะได้รับทราบถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยต่อไป” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร.0-2298-0454 , 0-2619-6188--จบ--